สระแก้ว – คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก สภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วเพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในกลุ่มน้ำภาคตะวันออก
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานข่าว คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก สภาผู้แทนราษฎร โดย พล.ร.อ.พิเชษฐ ตานะเศรษฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก พื้นที่ จ.สระแก้ว ที่ ห้องประชุมบูรพา ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว โดยมีนายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วย นายวิทยา มากปาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและให้ข้อมูลถึงสภาพปัญหา สาเหตุ แนวทางการแก้ไขในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสระแก้วแก่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก สภาผู้แทนราษฎร
สำหรับสถานการณ์ด้านการขาดแคลนน้ำและปัญหาภัยแล้งของจังหวัดสระแก้ว ในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง มีสภาพปัญหาเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกในลุ่มน้ำโตนเลสาปมีปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยเฉพาะบริเวณอำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง ปัจจุบันมีฝนเฉลี่ยเพียง 900-1,100 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 1,400-1,500 มิลลิเมตรต่อปี จึงทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยยาง มีความจุอ่างน้ำ 60 ล้านลูกบาศก์ เมตร แต่มีน้ำในอ่างเพียง 20-35 ล้าน ลูกบาศก์เมตร จึงไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 40,000 ไร่
ขณะเดียวกัน แผนบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้จัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆอย่างทั่วถึงและพอเพียง รวมทั้งมีน้ำสำรองไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การอุตสาหกรรม และการเพาะปลูกในฤดูฝนในปีถัดไป โดยให้ลำดับความสำคัญ อาทิเช่น 1. บริโภคอุปโภคและการประปา 2. เพื่อรักษาระบบนิเวศทางน้ำ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม และการขับไล่น้ำเสีย 3. เพื่อการเกษตร และ 4. เพื่อการอุตสาหกรรม
พล.ร.อ.พิเชษฐ ตานะเศรษฐ กล่าวว่า ต้องขอบคุณจังหวัดสระแก้วและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาระบบลุ่มน้ำทั้งจังหวัด การลงพื้นที่วันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ปัญหาภัยแล้งในปี 2564 และตั้งเป้าหมายว่า จะต้องเก็บจำนวนฝนที่ตกในปีนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อไว้ใช้ในยามวิกฤตภัยแล้งในภายภาคหน้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2564 ปัญหาภัยแล้งจะต้องลดน้อยลงกว่าปี 2562 โดยข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานทั้งหมดในวันนี้ จะนำไปพิจารณาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่าย คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนบน โดยมีคณะทำงานในพื้นที่ และ ส่วนราชการบรรยายสรุป พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยโครงการพัฒนาลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ โครงการชลประทานสระแก้ว ได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ในลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนล่าง เมื่อปี 2560 และได้ขยายพื้นที่ในลุ่มน้ำย่อยคลองกัดตะนาวใหญ่ตอนบน และตอนกลางในปี 2561 และ ปี 2562 ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว โดยโครงการดังกล่าวนี้เป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” คือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน ร่วมใจ และ มีส่วนร่วม ซึ่งโครงการดังกล่าวชลประทานสระแก้วมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้าใจสภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำตันทุน ความต้องการใช้น้ำและให้พี่น้องเกษตรกร เป็นผู้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำของชุมชนด้วยตนเอง
————————–
ภาพโดย/ทีม ปชส.สระแก้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: