กรุงเทพฯ – อพท. เผย ปี 2563 ยังดำเนินงานภายใต้แผน สร้างท่องเที่ยวไทยยั่งยืน เร่งศึกษาประกาศพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา สู่เมืองอารยธรรมวิถีชีวิตสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในภาคใต้ เดินหน้าพัฒนา 4 เมืองเข้าเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเข้าสู่ TOP 100 และเป้าหมายปี 2566 ดันถ้ำขุนน้ำนางนอนเป็นแหล่งท่องเที่ยวจีโอปาร์ค
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของ อพท.ว่า ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนขับเคลื่อน อพท.ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2562–2565) และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งในปีนี้ อพท.ดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก คือ
1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้มาตรฐาน TOP 100 เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่แหล่งท่องเที่ยว
2.การขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN)
3.ขยายแนวเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ให้ครอบคลุมจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี
ข่าวน่าสนใจ:
4.การศึกษาเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ใน จ.เชียงราย เพชรบุรี และพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา
ทั้งนี้ การศึกษาและเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา จะครอบคลุมอำเภอใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เนื่องจากรัฐนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นในศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว จึงให้ อพท.ศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เนื่องจากมีร่องรอยอารธรรมความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัย มีความเป็นเมืองเก่า มีวิถีชีวิตที่น่าสนใจและน่าฟื้นฟูให้เกิดความยั่งยืน เป็นแหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการของภาคใต้
การศึกษาจะดำเนินการร่วมกับทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับอำเภอต่าง ๆ ที่อยู่รอบทะเลสาบสงขลา เพื่อวางแนวทางการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และจะจัดตั้งสำนักงาน อพท. เพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา อพท.ยังไม่มีสำนักงานให้บริการในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณ 2564
ส่งแหล่งท่องเที่ยวชิง TOP 100 เวทีโลก
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ เพื่อเข้าสู่ TOP 100 ว่า เพื่อรับประกันมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว ในเวทีระดับนานาชาติ สร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว เพราะ TOP 100 เป็นรางวัล Sustainable Destinations Top 100 ซึ่งจะประกาศและจัดพิธีมอบรางวัลที่งานส่งเสริมการท่องเที่ยว ITB Berlin ประเทศเยอรมันนี โดยปี 2563 อพท.ตั้งเป้าหมายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบในพื้นที่พิเศษ ให้มีความพร้อมเพื่อยกระดับและส่งเข้าประกวดในเวทีดังกล่าว ในปี 2565 และคาดหวังได้อย่างน้อย 2 แหล่ง
ปั้น 4 พื้นที่ เข้าสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก
ส่วนการดำเนินการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เพื่อเสนอเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก้ ได้แก่ พื้นที่ จ.น่าน เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี โดยเตรียมเสนอต่อยูเนสโก้ในปีงบประมาณ 2564 และอีก 2 เมือง จะเสนอในปี 2566 คือ พื้นที่ จ.เพชรบุรี อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไป ประเภทศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือเมืองแห่งอาหารถิ่น (Gastronomy) และพื้นที่ จ.เชียงราย จะพัฒนาเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษา เพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษในภาคเหนือ เป้าหมายพัฒนาเป็นเมืองแห่งศิลปะร่วมสมัย
“สำหรับพื้นที่ จ.เชียงราย อพท.ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ศึกษาพัฒนาถ้ำขุนน้ำนางนอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณี หรือ Geopark เป้าหมายสูงสุด คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีระดับโลก ตามเกณฑ์ของยูเนสโก้ ภายในปี 2568 แต่เบื้องต้นภายในปี 2564 จะพัฒนาขึ้นเป็นระดับจังหวัด และ ปี 2566 ขึ้นเป็นระดับประเทศก่อน” นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ กล่าว
ขั้นตอนการศึกษาทั้งหมด จะดำเนินการร่วมกับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ อพท.เห็นชอบ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: