ฉะเชิงเทรา – มรดกโลกกินไม่ได้ ชาวบ้านแปดริ้ว แนะ กมธ.วิสามัญ เลิกมรดกโลกในเขตอุทยานแห่งชาติ ขยายเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ทางตอนบนแก้ปัญหาวิกฤตขาดน้ำภาคตะวันออก บอกมรดกโลกไม่เคยมาเหลียวแลเลี้ยงดูพวกเรา พร้อมร้องขอให้มีการบริหารจัดการผู้ใช้น้ำอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน แก้ปัญหาชาวบ้านถูกเอกชนแย่งสูบไปขายในเชิงธุรกิจ ชี้เป็นต้นเหตุทำลายระบบนิเวศให้ผิดเพี้ยนแปรปรวน
วันที่ 26 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก นำโดยนายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 พร้อมด้วย พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการและประธานอนุกรรมาธิการ นายพรพจน์ เพ็ญภาส ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ และรองประธานอนุกรรมาธิการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ได้ลงพื้นที่มายัง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรับฟังปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำใน จ.ฉะเชิงเทรา ภายในห้องประชุมสภา อบจ.ฉะเชิงเทรา โดยมี นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ และตัวแทนชาวบ้านผู้ใช้น้ำ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ามาให้ข้อมูลพร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการ
โดยใช้เวลาประมาณเกือบ 3 ชม. ตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึงเวลา 11.30 น. จากนั้นในช่วงบ่าย จึงได้เดินทางลงไปดูพื้นที่ และรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำยังที่เขื่อนทดน้ำบางปะกง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนที่ทั้งคณะจะเดินทางกลับไป
โดยระหว่างการประชุมให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะปัญหาและแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก นายบุญลือ ตันตระกูล อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 ม.6 ต.ก้อนแก้ว อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ประธานกลุ่มบริหารจัดการใช้น้ำคลองข้างคันกั้นน้ำบางขนาก-ท่าไข่ โครงการพระองค์เจ้าไชยานุชิต ได้มีการเสนอแนะให้มีการจัดสรรและแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเป็นระบบชัดเจน โดยเฉพาะสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ของภาคเอกชน
ที่ทำการสูบผันน้ำออกไปจากพื้นที่จำนวนมากอย่างไม่เป็นระบบที่เหมาะสมหรือช่วงเวลาที่ควรจะสูบ จนทำให้ปริมาณน้ำจืดในลำน้ำมีไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็มที่หนุนขึ้นมาในฤดูแล้งให้ไหลลงสู่ทะเลออกไปให้พ้นจากลำน้ำ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวได้ทำให้ยังคงมีน้ำเค็มหนุนอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งในช่วงของฤดูฝน โดยเมื่อปีที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาน้ำเค็มไม่ยอมลงไปสู่ทะเลในฤดูน้ำหลาก โดยยังคงหนุนสูงอยู่ในพื้นถึงในเขตตัวเมือง จ.ฉะเชิงเทรา ตลอดทั้งปี
ทั้งที่ปกติตามธรรมชาตินั้นน้ำเค็มจะถูกน้ำจืดจากทางตอนบนผลักดันให้ไหลลงไปจนสุดถึงบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง ในช่วงของฤดูน้ำหลาก โดยปัญหาน้ำเค็มหนุนอย่างยาวนานดังกล่าว ได้ส่งผลทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำจืดในการประกอบอาชีพ ในขณะที่ภาคเอกชนกลับเร่งสูบผันน้ำออกไปจากพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล จึงทำให้ไม่มีน้ำจืดไหลลงไปตามลำน้ำได้ตามปกติหรือเป็นไปตามระบบนิเวศทางธรรมชาติ
ขณะเดียวกันในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออกที่กำลังมีการเติบโตของชุมชนเมืองตลอดจนภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้มีความต้องการใช้น้ำจืดเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ปี ขณะที่แหล่งกักเก็บน้ำดิบต้นทุนทางตอนบนยังคงมีไม่เพียงพอ จึงอยากเสนอแนะให้มีการยกเลิกมรดกโลกในเขตอุทยานแห่งชาติทางตอนบน เพราะมรดกโลกกินไม่ได้ และไม่เคยมาเลี้ยงดูช่วยเรา และมีแต่ระเบียบที่กำหนดมาให้เราทำตามเงื่อนไขของเขาเพียงด้านเดียว และเราก็ใช้ประโยชน์อะไรในพื้นที่ไม่ได้
จึงอยากให้หันดูแลคนไทยและลูกหลานคนไทยมากกว่ามรดกโลก เพื่อให้สามารถเสริมและขยายเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทางพื้นที่ตอนบน พร้อมทั้งสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้อีก 1 แห่งในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นมรดกโลกได้ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้นอีกนับพันล้าน ลบม. ในการช่วยแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนได้อย่างเพียงพอต่อไป นายบุญลือ กล่าว
ด้านพลเรือเอกพิเชฐ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่มายัง จ.สระแก้ว ปราจีนบุรี และสุดท้าย คือ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อมาพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของลุ่มแม่น้ำภาคตะวันออก โดยเป็นการลงมาศึกษาเป็นครั้งที่ 2 แล้วในวันนี้ เพื่อให้ได้ทราบปัญหาจากทุกจังหวัด โดยที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ได้ทราบถึงปัญหาของทางจังหวัดที่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องน้ำเค็ม น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม
โดยได้เชิญภาคเอกชน ภาคประชาชน ได้เข้ามาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปวิเคราะห์ศึกษา และจะนำไปเสนอในการแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ส่วนข้อเสนอแนะที่ได้จากที่ประชุมในวันนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากน้ำมีข้อจำกัดมาก เช่น ในปีที่ผ่านมาฝนตกน้อยและเราต้องพึ่งน้ำจากน้ำฝน ฉะนั้นในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในการเก็บน้ำและจัดสรรน้ำให้ลงตัว
ทั้งเรื่องของการอุปโภคบริโภค เรื่องของเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการรักษาระบบนิเวศ ซึ่ง 4 หัวข้อนี้ เป็นปัจจัยใหญ่ในการจัดสรรน้ำที่จะให้ลงตัวในแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน สำหรับปัญหาใน จ.ฉะเชิงเทรานั้น อาจจะต้องมีการทบทวนในเรื่องของการจัดสรรน้ำว่าอันไหนจะเหมาะกับใคร ที่จะให้ทุกภาคส่วนได้รับผลประโยชน์อย่างลงตัว
ในวันนี้ได้มีการพูดคุยและทำความเข้าใจกันแล้ว ต่อจากนี้ไปคณะอนุกรรมาการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัด จะเป็นตัวขับเคลื่อนในเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำของจังหวัดฉะเชิงเทราต่อไป โดยจะทำการนำกลับไปพิจารณารวบรวมวิเคราะห์ และสรุปทั้งหมดในภาพรวม ถึงสาเหตุของปัญหาคืออะไร และจะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบให้แก่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป พลเรือเอก พิเชฐ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: