เชียงราย-ประชุมเสนอตั้ง 2 สถาบันการศึกษาใน อ.เชียงแสน วุ่น ชาวบ้านกว่า 200 คน ไม่มั่นใจข้อมูล หลังจากจะขยายเปิดโรงเรียน และวิทยาลัยเทคนิค ในพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีการเลี้ยงกระบือกว่าพันตัวเป็นอาชีพ และวิถีชีวิตของชาวบ้านมานานหลายสิบปี และยังเป็นที่ตั้งของบ่อขยะเชียงแสน กว่า 100 ไร่ เกรงเกิดผลกระทบ
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 29 มิถุนายน 63 ชาวบ้านประมาณ 200 คน จากบ้านเวียงเหนือ หมู่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย ได้จัดการประชุมกันที่บริเวณ ศาลาอเนกประสงค์ วัดผ้าขาวป้าน ริมฝั่งโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เรื่องการจัดการป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำห้วยฮ่อมเชียงแสน โดยมี ปลัดอำเภอตัวแทน นายปกรณ์ สุริวรรณ นายอำเภอเชียงแสน และหลายภาคส่วนร่วมด้วย
โดยชาวบ้านอยากส่งเสริมเรื่องการปลูกป่าในพื้นที่ห้วยฮ่อม เชียงแสน ที่มีกว่า 2,000 ไร่ และป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ระหว่างเริ่มประชุมได้มีการหารือเพิ่ม กรณี โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 อำเภอเชียงแสน มีแนวทางที่จะเปิดวิทยาเขตห้วยเกี๋ยง กับ วิทยาลัยการอาชีพอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย เสนอตั้ง วิทยาลัยเทคนิค อ.เชียงแสน บริเวณ พื้นที่ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสร.) ราว 980 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดผ้าขาวป้าน ไปทาง สามเหลี่ยมทองคำ 3-4 กิโลเมตร ใกล้วัดห้วยเกี๋ยง เป็นพื้นที่สวยงาม ปัจจุบันมีหน่วยราชการหลายหน่วยเช่น ตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช การประปา และ บ่อขยะเทศบาล ฯลฯ และประชาชนเข้าไปใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ เช่น กระบือ มานานหลายสิบปีแล้ว
โดยในที่ประชุมีการซักถามว่า หากมีการเข้าใช้พื้นที่จริง ชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์อยู่จะไปอยู่ที่ไหน เพราะพื้นที่ก็มีจำกัด และยังมีบ่อขยะของ เทศบาลเวียงเชียงแสน และ เทศบาลเวียง อ.เชียงแสน 2 เทศบาลที่มีการทำข้อตกลงเอาขยะไปทิ้งแบบฝังกลบในพื้นที่นี้ ราว 100 ไร่ การจะใช้พื้นที่ โรงเรียนและวิทยาลัยจะอยู่กับบ่อขยะได้อย่างไรและผลกระทบต่อสุขภาพนักเรียนจากกลิ่นจะมีหรือไม่ ที่สำคัญชาวบ้านงุนงงว่า มีการแจ้งชาวบ้านให้มาประชุมเรื่องป่าชุมชน แต่กลับมีการหารือเรื่องใช้พื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ และขอเพิกถอนที่ดิน หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสร.) จะเร่งด่วนเกินไปในวันนี้ ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมาก และชาวบ้านหมู่อื่น เช่น หมู่ 8 ก็ไม่ได้มาประชุมด้วย ทางปลัดอำเภอเห็นดังนั้นจึงเสนอปิดประชุมและให้ชาวบ้านไปพูดคุยกันก่อน แล้วค่อยนัดมาประชุมชี้แจงกันใหม่
นายคงฤทธิ์ วังมณี ,นายชาติชาย ทาลังกา ,นายวุฒิชัย ยานะ แกนนำชาวบ้าน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังว่า ชาวบ้านอยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้เพราะเพิ่งทราบเรื่องเมื่อวานนี้เอง จึงมาประชุมกัน การตั้งโรงเรียนและวิทยาลัยครั้งนี้อาจมีประโยชน์กับนักเรียนนักศึกษา แต่อีกส่วนหนึ่งการเข้าใช้พื้นที่ก็จะมีส่วนที่จะไปกระทบกับพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์ ที่มีชาวบ้านเลี้ยงกระบือนับพันตัวมานานหลายสิบปี เป็นอาชีพและวิถีชีวิตของชาวบ้านจะให้ไปเลี้ยงที่ไหนหากขาดรายได้จะมีใครรับผิดชอบ และยังมีบ่อขยะพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ว่าจะต้องมีการทับซ้อนพื้นที่กัน เพราะหากย้ายบ่อขยะเข้าไปลึกใกล้แหล่งต้นน้ำก็อาจจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ซึ่งไม่น่าจะทำได้และไม่เคยมีใครศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจนมาก่อน และหากตั้งสถานศึกษาใกล้บ่อขยะก็อาจมีผลด้านกลิ่นและสุขภาพอนามัยของเด็กนักเรียน ซึ่งการมาเสนอใช้พื้นที่เป็นเรื่องที่กะทันหันมาก เหมือนทางราชการได้ทำเรื่องจากข้างบนแล้วถึงมาถามชาวบ้าน ซึ่งน่าจะมาถามชาวบ้านก่อน
พร้อมยกตัวอย่างว่าในอดีตอำเภอเชียงแสน เคยมี การสร้างตลาดการค้าชายแดน ที่บ้านห้วยเกี๋ยง มาแล้ว โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดใช้งบหลายสิบล้าน แต่กลับไม่มีการใช้งาน ปัจจุบันเป็นที่ตากข้าวและออกกำลังกายของชาวบ้าน จึงเป็นเงินภาษีที่เสียหายไป การดำเนินงานต้องทำด้วยความรอบคอบมากที่สุด อย่าซ้ำรอยเดิม ซึ่งชาวบ้านจะมีการนัดหารือกันอีก เพื่อถกถึงประเด็นเหล่านี้ เพราะหลังทราบเรื่องราว เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างทันทีเพราะคนส่วนมากยังไม่ทราบเรื่อง
ส่วน ดร.กมล ไชยนันท์ ผ.อ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) เปิดเผยว่า วันนี้ที่มีการประชุมก็เพื่อที่จะหาแนวทางขอใช้พื้นที่เพื่อตั้ง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 วิทยาเขตห้วยเกี๋ยง ซึ่งที่ผ่านมามีการขอรังวัดที่ดินไปแล้ว และถ้าหากมีการถอนสภาพจากที่สาธารณประโยชน์(นสร.) ก็จะมอบเสนอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อขอใช้เป็นที่ราชพัสดุ และมอบพื้นที่ให้กับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เพื่อตั้งสถานศึกษาต่อไป โดยโรงเรียนราช เสนอมาสเตอร์เพลนให้ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ที่การทำประชาคมกับประชาชนเท่านั้น โดยใช้งบก่อสร้าง ราว 100 ล้านบาท บนพื้นที่ราว 48 ไร่ เพื่อรองรับกับนักเรียนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ส่วน นายณัฐนนท์ ภู่อริยพงศ์ ผ.อ.วิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง กล่าวว่าหากมีวิทยาลัยเทคนิคเชียงแสน บนพื้นที่ 50 ไร่ งบก่อสร้าง 200 ล้านบาท จะเปิดสอนทั้งระดับ ปวช.และ ปวส. ทั้งสายช่าง สายพาณิชย์ รองรับกับการกับการค้าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ โดยหากมีการสร้างวิทยาลัยและโรงเรียนอาจจะต้องขยับบ่อขยะออกไป แต่ก็ยอมรับว่า เรื่องที่ชาวบ้านอาจยังไม่มั่นใจในข้อมูลเพราะเป็นเรื่องใหม่ จะมีการนำเสนอข้อมูลกันอีกครั้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
- องคมนตรีเชิญสิ่งของพระราชทานเนื่องในโอกาสปีใหม่ 2568 มอบให้ทหารกองกำลังป้องกันชายแดน จ.สระแก้ว
- บุรีรัมย์ ปล่อยแถวระดมกวาดล้าง ตรวจค้น ยาเสพติด ก่อนปีใหม่
- โครงการวิลล่าหรูเกาะสมุยฝืนคำสั่งรื้อถอนอาคาร ยังปล่อยให้ต่างชาติเช่าวิลล่า
- หนาวนี้ไปแอ่วเมืองเจียงฮายกั๋นเต๊อะ! ส่อง 7 อีเวนต์ไฮไลต์ใน “เทศกาลสีสันกาสะลอง 2024”
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: