อุบลราชธานี – เกษตรกรตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจอุบลฯ ชวนหิ้วตระกร้า พกถุงผ้ามาจ่ายตลาด หวังลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน
วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2561 ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ ชั้น G ห้างสุนีย์ เริ่มต้นรณรงค์ บ่เอาถุงหูหิ้ว ในงานมีการแชร์ประสบการณ์การณรงค์ในเสวนา กินสบายใจทอล์คจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี,รพ.สรรพสิทธิประสงค์,ร้านอุทยานบุญนิยม และมีเวิร์คช็อปDIY ถุงผ้าจากเศษผ้า การทำแก้วน้ำจากวัสดุในชุมชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมสู่เกษตรกรและผู้บริโภค
นางสาวคนึงนุช วงศ์เย็น ผู้จัดการโครงการกินสบายใจกล่าวว่า ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ เปิดมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นตลาดทางเลือกที่เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นตลาดไม่ใช้โฟม 100 % ในปีนี้ได้ขยับมารณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก
“เกษตรกรทำเกษตรกรอินทรีย์ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทุกชนิด เป็นการทำเกษตรกรรมเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ในห่วงโซ่ตลาดกลับเป็นต้นทางในการสร้างขยะประเภทถุงพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย หากจะทำให้ตลาดไม่มีถุงพลาสติกเลย ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค”
ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ มีลูกค้าประมาณ 200 คนต่อวัน มีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 1,000 ใบต่อวัน วันนี้เกษตรกรทุกร้านไม่มีถุงพลาสติกวางที่ร้านตัวเอง เชิญชวนให้ลูกค้าหิ้วตระกร้า ถือถุงผ้ามาจ่ายตลาด หากลูกค้าท่านใดไม่ได้เตรียมมา สามารถไปหยิบถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ฟรี 1 ใบ ซึ่งจะช่วยลดถุงพลาสติกจาก 1,000 ใบ ให้เหลือเพียง 200 ใบ แต่ในเดือนถัดไปจะไม่มีบริการถุงพลาสติก ผู้บริโภคต้องวางแผนสำหรับการมาเลือกซื้อสินค้าที่นี่
ด้านนางอัจฉรา นามบุตร นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าในจังหวัดอุบลราชธานีมีโครงการยืดอกพกปิ่นโตมาทานอาหารด้วยกัน เพื่อเชิญชวนให้บุคลากรในศาลากลางจังหวัดฯลดการใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร จากนั้นขยายสู่หน่วยงานภายนอก เช่น ตลาดเจริญศรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“ต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หากต้องการองค์ความรู้ หน่วยงานก็จะออกไปให้ความรู้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนต่อยอดสู่เรื่องอื่นๆเช่น การสร้างรายได้จากขยะ โดยขับเคลื่อนใน 25 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี
ดร.จันทร์ฉาย ทองเพ็ญ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ กล่าวว่า รพ.สรรพสิทธิประสงค์เริ่มต้นจากเห็นการทิ้งขยะไม่ถูกต้อง เช่น ทิ้งแก้วน้ำโดยไม่เทน้ำทิ้ง จึงรณรงค์ให้นำแก้วน้ำมาเอง และขณะนี้รพ.ได้รณรงค์ให้นำถุงผ้ามารับยาเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา
“วันนี้เป็นวันที่ 6 ที่รณรงค์ให้เอาถุงผ้ามารับยาเอง เป็นเรื่องที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมและต้องใช้เวลา สิ่งที่กังวลคือทุกคนมักจะเอาความสะดวกสบายของตัวเองเป็นหลัก แต่ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมส่งผลในระยะยาว ทุกคนจึงต้องช่วยกัน” ดร.จันทร์กล่าวพร้อมกับหยิบกระเป๋าสะพายที่บรรจุถุงผ้า แก้วน้ำที่พกติดตัวจนเคยชินมาให้ดูเพื่อเชิญชวนทุกคนเริ่มต้นรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเองง่ายๆ แค่การเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม
นางในน้ำคำ มาจน จากร้านอุทยานบุญนิยม กล่าวว่าชุมชนราชธานีอโศกคือชุมชนนักปฏิบัติธรรม ทำกสิกรรมไรสารพิษ มีประชากรประมาณ500 คน มีการจำกัดขยะ ทำปุ๋ยสะอาดอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ปลูกฝังตั้งแต่เยาวชน จนสมาชิกทุกคนตระหนักในเรื่องนี้ ในชุมชนทุกคนจะมีภาชนะส่วนตัวเพื่อใส่อาหาร ส่วนร้านอุทยานบุญนิยมได้รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกมากว่า9 ปี
“ควรเริ่มต้นจากการคัดแยกขยะเปียก และขยะแห้งออกจากกัน และทำความรู้จักกับถุงพลาสติก ซึ่งมี 2 แบบคือ แบบย่อยสลายได้ และย่อยสลายไม่ได้ ขณะนี้ในร้านอุทยานบุญนิยม ไม่มีการใช้ถุงพลาสติกแล้ว ผู้บริโภคต้องเตรียมถุงผ้า ตระกร้า ปิ่นโต แก้วน้ำมาเอง นอกจากเทศกาลเจ อาจจะมีบ้าง เพราะมีผู้บริโภคจำนวนมากมาอุดหนุน”
ร้านอุทยานบุญนิยม ใช้ระยะเวลากว่า 9 ปี จึงลดการใช้ถุงพลาสติก โดยรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ทำตามกระแส หรือแฟชั่น ไม่ว่าภาครัฐจะมีนโยบายหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือการเปลี่ยนวิธีคิด ให้คนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และออกแบบทางเลือกหลายๆทางให้แก่ผู้บริโภค เพื่อนำสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ส่วนตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจได้เชิญชวนผู้บริโภคใน social mediaร่วมรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกได้ง่ายๆ โดยแชร์ประสบการณ์การลดใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวัน แชร์ในเฟสบุ๊คติดแฮสแทค #บ่เอาถุงหูหิ้ว ตั้งค่าสาธารณะ ท่านไหนที่มียอดไลค์สูงสุดตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจจะมีรางวัลมอบให้
ข่าวโดย : คนึงนุช วงศ์เย็น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: