ปราจีนบุรี – กลุ่มเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี ผนึกกลุ่มเครือข่ายฯ ร่วมแสดงเจตนารมณ์ไม่เอา CPTPP ต่อการตัดสินใจว่า ประเทศไทยควรเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม กับความตกลงการค้าเสรีฯ ระบุคนไทยและเกษตรกรไทยเสียประโยชน์ทุกด้าน
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 4 ก.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้มีกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประเด็นความตกลงการค้าเสรี CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ในมุมมองประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออก ,เครือข่ายประชาชนเขียนอนาคตประเทศไทย, เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก, ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ เดินทางเข้าร่วมประมาณ 50 คน โดยมี ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก และนายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายประชาชนเขียนอนาคตประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอข้อมูล CPTPP ในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะตามมาภายหลังรัฐบาลไทยเตรียมผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมกลุ่ม 11 ประเทศ โดยมี นางสาวนันทวัน หาญดี ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออก กล่าวเปิดกิจกรรมเสวนาดังกล่าว
ทั้งนี้ นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายประชาชนเขียนอนาคตประเทศไทย กล่าวว่า การรวมกลุ่มของ 11 ประเทศ เกิดขึ้นหลังประเทศขนาดใหญ่ไม่สามารถกอบโกยผลประโยชน์ได้จากกลุ่ม WTO จึงมาสร้างกลุ่มย่อย ๆ เพื่อให้ประเทศมหาอำนาจได้ประโยชน์ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยต้องเรียนรู้ หากประเทศไทยจะเข้าร่วมกลุ่ม เพราะมีผลกระทบต่อคนไทยโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องยา และสิทธิบัตรยา จะถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อหลายวงจรในระบบสาธารณสุข ทำให้ รมว.สาธารณสุข ไม่เห็นด้วย การแข่งขันเรื่องยา จะไม่ถูกลง แต่จะแพงขึ้น และรัฐห้ามส่งเสริมคลอบคลุมไปถึงสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ทำให้คนเข้าถึงยายากขึ้น ยาสามัญจะถูกนำลิขสิทธิ์มาผูก ส่งผลทำให้ยาราคาแพงขึ้นแน่นอน
“เมื่อเราเข้าร่วม CPTPP แล้ว สิ่งที่มีผลกระทบกับเกษตรกรชัดเจนคือ ปัญหาเรื่องเมล็ดพันธ์ หากเราซื้อแตงโมมาปลูก แล้วเราเก็บเมล็ดพันธ์ไว้ปลูกต่อ จะผิดกฎหมาย ซึ่งในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ องค์การสหประชาชาติบอกว่า การเก็บพืชพันธุ์ไว้ปลูกต่อเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเกษตรกร แต่ในข้อตกลง CPTPP เราจะถูกบังคับว่า การเอาเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อเป็นความผิด หรือการอนุญาตให้นำเมล็ดธัญพืชขนาดเล็กปลูกต่อได้ เพื่อไว้กิน ห้ามขาย ถ้าขายถือว่ามีความผิด ถือว่า เป็นการคุมโลกด้วยเมล็ดพันธุ์และคุมอาหาร เพราะฉะนั้นกฎข้อนี้ทำให้เกิดการจำกัดสิทธิเกษตรกร จากเดิมที่เกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์จะคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เองจากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านและปลูกต่อได้ แต่ข้อกำหนดหนึ่งที่น่ากังวลชื่อว่า EDV หากเกษตรกรรายหนึ่งปลูกพันธุ์พื้นเมือง อีกรายปลูกพันธ์ของบริษัทที่ซื้อเมล็ดพันธุ์มา และปลูกไม่ไกลกันนัก มีการผสมข้ามพันธุ์กันแน่ ๆ โดยลมและแมลงตามธรรมชาติ หากบริษัทพิสูจน์ได้ว่า พืชของเกษตรกรพันธุ์พื้นเมืองมีส่วนผสมของสารพันธุกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง พันธุ์พื้นบ้านของเกษตรกรพื้นเมืองถือว่า เป็นพันธุ์ของบริษัทนั้นทันที ” นายประสิทธิชัย กล่าว
นอกจากนั้น เวทีเสวนาดังกล่าว ยังระบุว่า แม้ข้อตกลงดังกล่าว จะมีส่วนดีกับเศรษฐกิจโดยเฉพาะนักลงทุนหรือกลุ่มทุน แต่เมื่อเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยเป็นวงกว้างแล้วประเทศไทยจะเหลืออะไร เพราะนอกจากผลกระทบเรื่องยาและเมล็ดพันธุ์ ยังมีผลกระทบต่อ สินค้าเกษตรกรรมและประมง ,ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ,เครื่องสำอาง, เภสัชภัณฑ์ ,เครื่องมือแพทย์และทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้อง ที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยมองว่า ขณะนี้ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของข้อตกลงดังกล่าวได้ทั้งหมด ประชาชนไม่มีส่วนร่วม รัฐบาลใช้อำนาจที่มีอยู่โดยไม่ฟังเสียงประชาชน และประเทศไทยยังไม่ควรเร่งรีบเกี่ยวกับเรื่องนี้
สำหรับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออก ให้ความเห็นว่า เกษตรกรถือว่า การเก็บเมล็ดพันธ์เป็นปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งที่จำเป็น สำหรับเพาะปลูกและแบ่งปันกัน หากมีการผูกขาดด้วยกฎหมายและข้อตกลงดังกล่าว วิถีชีวิตของเกษตรกรต้องเปลี่ยนไป ถูกจำกัดวิถีชีวิตในการทำมาหากิน ถูกเอาเปรียบ โดยที่ไม่รู้ข้อมูลด้วยซ้ำว่า CPTPP คืออะไร ต่อไปเราจะไม่เหลืออะไรเลย เช่น พันธุ์ข้าว เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย จากเดิมมีพันธุ์ข้าวหลากหลายมากมาย ตอนนี้เหลือไม่กี่สายพันธ์ ทั้งนี้ ปัญหาเกิดจากรัฐบาลนำมาเพื่อตอบสนองกลุ่มทุนเท่านั้น
ด้าน ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภาคตะวันออก กล่าวว่า ข้อกำหนดเรื่องของการให้อุปกรณ์การแพทย์มือ 2 เป็นสินค้าที่มีคุณภาพเท่ากับของใหม่ จะทำให้เราเป็นถังขยะกัมมันตรังสีของโลก ดังนั้น กรณีของข้อตกลง CPTPP ไม่ใช่แค่การล่าอาณานิคม น้ำ อากาศ ไปจนกว่าสัญญานี้จะถูกยกเลิก เพราะหลาย ๆ ประเทศก็ยืดสัญญาออกไป 10-20 ปี โดยอ้างว่า ยังไม่พร้อม แต่ประเทศไทยบอกว่า จะดำเนินการภายใน 10 ปี และถ้าจะทำตนคิดว่า เราเดือดร้อนก่อน เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม และสิ่งที่เค้าทำกับเราชัดเจนที่สุด คือทำกับภาคเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้น ถ้าเรายังกินข้าว ยังใช้น้ำ อุปโภค บริโภค หรืออุตสาหกรรมภาคบริการ การท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้แน่นอนตั้งแต่มันมา เพียงแต่เราไม่รู้ แต่มารู้อีกทีก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ฉะนั้น ตนคิดว่า NO CPTPP แต่แรกดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของการเสวนาได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนของพื้นที่ต่าง ๆ ลงมติเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว ปรากฏว่า ทุกพื้นที่ให้ความเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการ ความตกลงการค้าเสรี CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ก่อนจะร่วมกันถ่ายภาพโดยถือป้ายสัญลักษณ์ NO CPTPP ด้วย ทั้งนี้ สำหรับเครือข่ายประชาชนเขียนอนาคตประเทศไทยและเครือข่ายพื้นที่ต่าง ๆ จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อจัดเวทีเสวนากรณีนี้ต่อเนื่องไปที่ จ.นครนายก, ขอนแก่น ,เชียงใหม่ , พิษณุโลก ,สิงห์บุรี ,กรุงเทพมหานคร และเดินทางไปร่วมแสดงเจตจำนงต่อรัฐบาลในวันที่ 14 ก.ค.63 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลยุติเรื่องนี้ เนื่องจากไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน
——————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: