ผู้ค้าชายแดนระนองโอดพิษเงินจ๊าตอ่อน กระทบค้าชายแดนระนองหนัก
ระนอง-ผลกระทบจากค่าเงินจ๊าตของเมียนมาที่อ่อนค่าลงส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมาด้าน จ.ระนอง-เกาะสองเป็นอย่างมาก ทำยอดค้าขายสินค้าวูบหายกว่า 30% หลังบรรยากาศการค้าขายในเมียนมาซบเซาเหตุราคาสินค้าในเมียนมีราคาแพงขึ้น ผลขยับจากค่าเงินที่อ่อนค่า ทำให้ประชาชนเกิดการชะลอซื้อ ทำให้ยอดส่งออกจากฝั่งไทยลดตาม ทั้งยังคาดลามกระทบภาคท่องเที่ยวช่วงซีซั่นใหม่นี้ด้วย
นายธีระพล ชลิศราพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการค้าชายแดนในจังหวัดระนอง ได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินจ๊าตของประเทศเมียนมาอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับด่านการค้าอื่นๆ และถือว่าเป็นผลกระทบที่หนักพอสมควร เนื่องจากยังมีตัวแปรอื่นๆเข้ามารุมเร้าอาทิการชำระเงินค่าสินค้าที่คู่ค้าในฝั่งเมียนมาจะขอขยายระยะเวลาการชำระค่าสินค้าออกไปโดยอ้างความผันผวนของค่าเงิน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการฝั่งไทยเป็นอย่างมากนอกจากการซื้อขายที่ลดลง ต้นทุนที่เพิ่มจากอัตราแลกเปลี่ยน สภาพคล่องทางการเงินก็ไม่คล่องตัว ขณะนี้ผู้ประกอบการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ส่วนใหญ่ต่างประคับประคองตัวเพื่อให้ผ่านสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ โดยคาดหมายว่าค่าเงินที่ตกต่ำของเมียนมา รวมทั้งหลายๆ ประเทศที่กระทบเป็นลูกโซ่โดยเฉพาะจีนที่ค่าเงินตกต่ำเช่นกันนั้นจะมีการแก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้นไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมาหากปล่อยให้ปัญหาค่าเงินที่อ่อนค่าเกิดขึ้นยืดเยื้อต่อไป นอกจากนี้คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะลามถึงภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนอาจจะลดการเดินทางมายังไทยมากขึ้นอันเป็นผลจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า
ปัจจุบันค่าเงินจ๊าตของเมียนมามีอัตราแลกเปลี่ยนลดลงราว 25% จาก 2.3 บาทต่อ 100 จ๊าต เป็น 1.9 บาทต่อ 100 จ๊าต คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจากส่วนต่างของค่าเงินดังกล่าว เป็นจำนวนมากในแต่ละเดือนเมื่อเทียบจากมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาที่ 2.1-2.2 บาทต่อ 100 จ๊าต ในปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดภัยพิบัติในประเทศเมียนมา รวมถึงการปั่นค่าเงินในฝั่งเมียนมา แต่หลังจากรัฐบาลเมียนมามีการปราบปราม ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นโดยที่ผ่านมา ภาคเอกชนทั้งในประเทศไทยและฝั่งเมียนมามีการรวมตัวกันเสนอข้อเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาครัฐของทางเมียนมาเข้ามาช่วยหาวิธีการจับคู่ค่าเงินระหว่างเงินจ๊าต และเงินบาท เพื่อช่วยประคองเสถียรภาพของค่าเงินจ๊าต ซึ่งทาง ธปท.ได้รับหลักการแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการต่อทั้งในส่วนของทางการไทย และเมียนมา โดยหากปล่อยให้ค่าเงินของประเทศเมียนมาไม่มีเสถียรภาพต่อเนื่องไป อาจทำให้ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เข้ามากระทบให้ค่าเงินตกลงได้เหมือนช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2561 ได้มีการทำความตกลงชำระราคาด้วยเงินสกุลท้องถิ่นแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ ริงกิตของมาเลเซีย รูเปียห์อินโดนีเซีย เยนญี่ปุ่น และเงินหยวนของจีน และได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อชำระเงินข้ามประเทศกับเพื่อนบ้าน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เช่น ธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งใช้คิวอาร์โค้ดสแตนดาร์ดเพื่อทำธุรกรรมข้ามพรมแดนแล้ว และพยายามส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนจากส่วนต่างให้แคบลง
นายธีระพล กล่าวต่อถึงถึงการสรุปภาวะการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจ.ระนอง ประจำเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานพานิชย์จังหวัดระนองว่า การค้าชายแดนไทย-เมียนมาด้าน จ.ระนอง มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,000.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา 146.76 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 258.89 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.46 ดดยเดือนสิงหาคม 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 2,259.29 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการส่งออกเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่าการส่งออก 1,443.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 278.66 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สิงหาคม 2560 ลดลง 101.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.55 ส่วนมูลค่านำเข้าเดือนสิงหาคม 2561 มีมูลค่า 557.23 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 131.90 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สิงหาคม 2560 ลดลง 157.68 ล้านบาท
ส่วนการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ระนองประจำเดือนกันยายน 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 1,920.04 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 80.36 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาลดลง 754.96 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.22 มูลค่าการส่งออก เดือนกันยายน 2561 มีมูลค่า 1,073.85 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 396.32 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา กันยายน 2560 ลดลง 518.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.57 มูลค่านำเข้าเดือนกันยายน 2561 มีมูลค่า 846.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 288.23 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา กันยายน 2560 ลดลง 236.37 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.83 โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง,น้ำมันหล่อลื่น,ของทำด้วยเหล็ก,ปูนซีเมนต์,ข้อต่อเหล็ก,ตู้คอนเทนเนอร์ฯ ส่วนสินค้านำเข้า ประกอบด้วยสัตว์น้ำ (ปลาแช่แข็ง),ปลาป่น,อุปกรณ์จับก้านเจาะในโครงการขุดเจาะฯ,ท่อผนังชนิดไร้ตะเข็บใช้ในโครงการขุดเจาะ,ปลาหมึกกล้วย,หมึกสาย,หมึกกระดอง, ฯ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: