X

ตรังเกษตรกรรุ่นใหม่รวมกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อป้อนตลาด เป็นรายได้หลักแทนอาชีพทำสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน

เกษตรกรรุ่นใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ จับมือรวมกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อป้อนตลาดกลายเป็นรายได้หลักแทนอาชีพทำสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน หลังพบตลาดต้องการสูงมาก ผลิตไม่พอจำหน่าย วอนขอการสนับสนุนด้านงานวิชาการ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโคเนื้อป้อนตลาด

วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เกษตรกรชาวสวนยางพารา ชาวสวนปาล์มน้ำมันคนรุ่นใหม่ในจ.ตรัง หันมาให้ความสนใจในการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อส่งขายกันมากขึ้น หลังพบว่าตลาดมีความต้องการสูงมาก จากเดิมแยกกันเลี้ยงของใครของมัน แต่ปัจจุบันได้หันมารวมกลุ่มกันเลี้ยง เพื่อจับมือกันพัฒนาคุณภาพ สร้างความเข้มแข็งในด้านตลาด โดยที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้ออ่างเก็บน้ำห้วยนาง เครือข่ายสยามบีฟ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

นายประดิษฐ์ คงดี อายุ 35 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้ออ่างเก็บน้ำห้วยนาง กล่าวว่า ตัวเองมีอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมัน และสวนยางพารา แต่ได้คิดและบริหารจัดการแปลงสวนปาล์มใหม่ ด้วยการทำฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อในสวนปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ โดยเลี้ยงมาแล้วประมาณ 8 ปี ขณะนี้มีโคทั้งหมด 14 ตัว แบ่งเป็นโคขุนเกรดพรีเมี่ยมจำนวน 8 ตัว และแม่พันธุ์ 6 ตัว โดยภายในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันทั้งหมด ตนเองจะปลูกหญ้าแซมไว้เต็มพื้นที่ สำหรับการใช้เป็นอาหารเลี้ยงโคเนื้อ เช่น หญ้ารูซี่ และหญ้าเนเปียร์ปากช่อง แต่ทั้งนี้ การปลูกปาล์มน้ำมันกว่าจะได้เก็บผลผลิตจะต้องเข้าระยะปีที่ 3 และราคาในอนาคตก็ไม่แน่นอน จึงจัดการพื้นที่ใหม่ปลูกหญ้าแซมสามารถนำมาเลี้ยงโคขายสร้างรายได้ เพราะเลี้ยงโคแค่ปีเศษ ก็สามารถส่งขายป้อนตลาดได้แล้ว ทำให้ได้เงินเก็บเป็นก้อน ส่วนมูลก็นำไปทำปุ๋ยใส่ยางพาราและปาล์มน้ำมัน จึงทำให้สำหรับตนเองแล้ว อาชีพทำสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราจึงเป็นเรื่องรองไปแล้ว นอกจากนั้นพบว่าในพื้นที่ อ.ห้วยยอด และในหลายอำเภอของจ.ตรัง มีเกษตรกรหันมาเลี้ยงโคเนื้อกันมากขึ้น ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่ทำร่วมกัน จึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อขึ้นได้ประมาณ 2 ปี มีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 20 ราย มีแม่พันธุ์ จำนวน 150 ตัว มีวัวขุนหรือวัวรุ่น จำนวนกว่า 90 ตัว เดิมสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่เขาจะเน้นการรวมกลุ่มในระดับหมู่บ้าน ตำบล แต่ตนเองมองว่าเป็นเรื่องที่ทำยาก จึงมีแนวคิดว่า เราควรจะเปิดกว้างรวบรวมคนที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกันจากในทุกอำเภอมารวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็ง แลกเปลี่ยนงานวิชาการ จับมือกันพัฒนารูปแบบการเลี้ยง พัฒนาคุณภาพ และจับมือกันให้เข้มแข็งทำแผนการตลาดร่วมกัน สายพันธุ์โคเนื้อที่เน้นเลี้ยงและเป็นที่ต้องการของตลาดมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์วากิว, สายพันธุ์แองกัส แบรงกัส และสายพันธุ์ชาโรเลส์ ตามลำดับ เพราะโตไว แข็งแรง สร้างเนื้อได้มาก คุณภาพดี ตลาดที่ส่งป้อนซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยม เนื้อโคมีคุณภาพคือ จะส่งขายให้กับบริษัท สยามบีฟ ในนามของเครือข่ายโคเนื้อไทย โดยขณะนี้ความต้องการของตลาดสูงมาก ขณะที่ทางกลุ่มผลิตได้ไม่เพียงพอป้อนตลาด ตามที่ทำสัญญาตกลงกันไว้จะต้องผลิตป้อนบริษัทซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยมปีละประมาณ 100 ตัว แต่ในความจริงทางกลุ่มสามารถผลิตและป้อนตลาดได้ไม่เพียงพอ

โดยขณะนี้กำหนดผลิตและป้อนตลาดได้แค่ประมาณ 2 เดือน/ครั้ง หรือประมาณ 14 – 15 ตัวต่อครั้งเท่านั้น หรือประมาณ 90 ตัวต่อปี โดยทางกลุ่มได้ร่วมกันผลิตแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ผลิตโคแบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ 1.วัวระดับตกเกรด จะขายตลาดล่าง ถือเป็นตลาดใหม่ที่เริ่มส่งขายจะต้องป้อนตลาดให้ได้กำหนด 10 วันจะต้องส่งให้ 3 ตัว ระดับ 2 คือ วัวคลาสเตอร์ หรือวัวโครง เป็นวัวที่มีสายพันธุ์เลือดยุโรป 62.5 – 75 % ทางกลุ่มจะทำเป็นวัวโครง เพื่อส่งไปให้ฟาร์มที่รับซื้อไปขุนต่อที่จ.ราชบุรี โดยรวบรวมวัวในเกรดนี้จากสมาชิกส่งครั้งละให้ได้เต็มคันรถ เพื่อจะได้เฉลี่ยค่าขนส่งร่วมกัน และโคเนื้อคุณภาพสูงหรือเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นวัวใหญ่ ทางกลุ่มตั้งเป้าจะผลิตป้อนตลาดให้ได้ปีละประมาณ 100 ตัว แต่ขณะนี้ยังผลิตได้ไม่เพียงพอ ที่สำคัญสายพันธุ์ในบ้านเรายังไม่พร้อม ยังต้องเรียนรู้และพัฒนา และยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ ด้วยการนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่างสายพันธุ์มาผสมพันธุ์กัน เช่น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการนำพ่อพันธุ์วากิว มาผสมแม่พันธุ์สายพันธุ์แองกัส แบรงกัส แต่จะต้องคัดเอาแม่พันธุ์ที่มีน้ำหนักตัว 450 กิโลกรัมขึ้นไปมาทำเป็นแม่พันธุ์ เพราะสายพันธุ์วากิว เป็นวัวตัวเล็ก ส่วนราคาขาย ถ้าเป็นวัวโครง พันธุ์ดี ที่พร้อมจะนำไปขุนต่อ ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 85 – 90 บาท ถ้าเป็นวัวขุนตัวใหญ่ เนื้อเกรดคุณภาพพรีเมี่ยม ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพเนื้อ ซึ่งปลายทางจะต้องมีการทดสอบคุณภาพจึงจะได้ทราบราคา สิ่งที่ทางกลุ่มต้องการมากที่สุดตอนนี้ ต้องการแม่พันธุ์ เพื่อจะนำมาผลิตลูกวัวต้นน้ำ เพื่อป้อนส่งให้ตลาด เพราะสมาชิกไม่มีเงินทุน จึงต้องการแหล่งเงินทุนสำหรับซื้อแม่พันธุ์ และต้องการคำแนะนำทางวิชาการ จากเจ้าหน้าที่ โดยทางกลุ่มพร้อมรับคำแนะนำ เพราะแนวโน้มทิศทางของตลาดขณะนี้กว้างมาก มีไม่เพียงพอ เพราะขาดสายพันธุ์ โดยปัจจุบัน ในการผลิตลูกวัวต้นน้ำ ต้องใช้อัตรา 3 ต่อ 1 คือ วัวหนึ่งตัวไม่ทราบว่าจะออกมาเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย จึงต้องใช้อัตรา 3 ต่อ 1 ทั้งนี้ ถ้ายอดต้องการปีละ 100 ตัว เราต้องใช้แม่พันธุ์ จำนวนสูงถึง 300 ตัว เพราะเรากำหนดเพศไม่ได้ จึงต้องเฉลี่ยลักษณะแบบนี้ ดังนั้น ทางกลุ่มจึงต้องการเงินทุน เพื่อซื้อแม่พันธุ์มาพัฒนา สำหรับการเลี้ยงโคเนื้อ จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ลูกวัวแยกจากแม่พันธุ์ ในระยะ 4 – 5 เดือนแรก จะปล่อยให้กินหญ้าธรรมชาติในแปลงที่ปลูกไว้ เสริมอาหารเล็กน้อย จากนั้นนำมาไว้ในฟาร์มแยกไว้คอกละ 2 ตัว ให้กินหญ้าสด และเสริมอาหารมากขึ้น ถือเป็นวัวโครง ที่พร้อมจะนำไปขุน พัฒนาคุณภาพเนื้อ ต่อจากนั้นนำมาแยกคอกเลี้ยงเดี่ยว เพื่อทำเป็นวัวขุน โดยจะให้กินหญ้าหมัก และฟางหมัก เสริมด้วยอาหารเท่านั้น เพื่อพัฒนาคุณภาพเนื้อให้ได้คุณภาพดี สำหรับป้อนตลาด เพื่อจะได้ราคาดี โดยเฉลี่ยระยะเวลาเลี้ยงโคเนื้อนั้นใช้เวลาแค่ปีเศษ ก็สามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดได้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน