เชียงราย-พิธีรับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก-เมล็ดพันธุ์ผลไม้ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเปิดศูนย์การเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ให้กับผู้พิการ อ.แม่สาย จ.เชียงราย น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างรายได้จากอาชีพเกษตรปลอดสารพิษ สู้ภัยไวรัสโควิด-19
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 31 ก.ค.63 นี้ ได้มีพิธีรับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก-เมล็ดพันธุ์ผลไม้ และ เปิดศูนย์การเรียนรู้อย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา โดยมี นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เชียงราย เป็นประธาน,นายอดิเรก ไลไธสง ปลัดอาวุโส อ.แม่สาย กล่าวรายงาน พร้อม นายถาวร สุวรรณวงค์ ประธานสมาคมคนผู้พิการ อ.แม่สาย พร้อมหน่วยงานราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในเขตพื้นที่ ต.เกาะช้าง,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ราว 500 คน ณ วัดหิรัญญาวาส (วัดพระสาน) เลขที่ 147 หมู่ 8 บ้านเหมืองแดงน้อย ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย
โดยในพิธี ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประธานเปิดกรวยและรับพระราชทาน เมล็ดพันธุ์ผักและพันธุ์ผลไม้ และ นำเมล็ดพันธุ์ผักและพันธุ์ผลไม้วางไว้บนพานหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ตัวแทนชมรมพัฒนาคนพิการแต่ละตำบลมารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ครบ 10 ชมรม ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อนช่วยเพื่อน 74 ชุด พันธุ์ผักผลไม้ 180 ต้น ในงานมีการเลี้ยงอาหารจากหลายฝ่าย และมีการแจกข้าวสาร น้ำมันพืช จากผู้ใจบุญครอบครัวหยกสิริมณี และอีกส่วนจาก พ่อเลี้ยงเสี่ยบุญมั่น และมีการร่วมกันศึกษาการเลี้ยงไก่แจ้ การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด การดำนา และมีการจัดตลาดสินค้าของชาวบ้านซึ่งจะมีทุกวันพุธ ด้วย
นายถาวร สุวรรณวงค์ ประธานสมาคมคนผู้พิการ อ.แม่สาย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตการของผู้คนทั่วโลก ที่ทำให้ผู้คนหันมาดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง จึงตั้งศูนย์การเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายทั้งทุนทรัพย์และกำลังกาย เป็นศูนย์ฝึกอาชีพผู้พิการแห่งแรกที่มีการตั้งขึ้นและดำเนินงานโดยผู้พิการ มี โรงเลี้ยงจิ้งหรีด โรงเรือนปลูกผักปลอดสารพิษ โรงเรือนเพาะเห็ด บ่อเลี้ยงปลา อาคารสำหรับอบรมและฝึกงาน สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นทางลาดห้องน้ำ โดยมีผู้อุปการะคุณ ประกอบด้วย ท่านพระครูหิรัญอาวาสวัตร เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาวาส และคณะกรรมการวัด หมู่บ้านเหมืองแดงน้อย สนับสนุนพื้นที่ 5 ไร่,นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย,นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอแม่สาย,นางวนิดา หล้าอ่อน และ เจ้าหน้าที่กิ่งกาชาดอำเภอแม่สาย,นายชัยยนต์ ศรีสมุทร ส.อบจ.เชียงราย เขต อ.แม่สาย,ร.ท.ไพศาล รักษ์ณรงค์และเจ้าหน้าที่ทหาร จากหมวดทหารม้าที่2 กองร้อยทหารม้าที่3 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่2 และอีกหลายท่าน ซึ่งสมาคมผู้พิการอำเภอแม่สายและประชาชนขอขอบพระคุณที่ได้สนับสนุน ณ โอกาสนี้
นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ประธานสภาวัฒนธรรม จ.เชียงราย กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนพสกนิกรทุกหมู่เหล่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระเมตตา ทรงเป็นพระมิ่งขวัญที่นำพาแสงสว่างส่องทางการพัฒนาสังคมและชุมชน ทรงมีขวัญกำลังใจ และความปลื้มปิติสู่พสกนิกรอำเภอแม่สาย ขอเทิดไว้เหนือเกล้าตลอดไปและขอเป็นกำลังใจให้คณะทำงาน สมาชิกสมาคมคนพิการ อ.แม่สาย และหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ทุกท่านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานจนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้อย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา
ก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในชุมชน ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต เสริมสร้างพลังสามัคคี ให้แก่สมาชิกในชุมชน นำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ขอมุ่งมั่นและตั้งใจดำเนินงาน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานตามแนวพระราชดำริ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ ในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตนยังขอเป็นกำลังใจให้กับประชาชนที่อาจจะเหน็ดเหนื่อยจากการประกอบอาชีพที่ยากลำบาก ขอให้กำลังใจและอดทนและขอให้ใช้ชีวิตตามวิถีรูปแบบใหม่ หรือ นิวนอมอล (New Normal) การ์ดอย่าตก เพื่อป้องกันไวรัสร้ายนี้ไม่ให้กลับมาระบาดอีก
นายนิคม อภิรัตนาโกศล ประธาน คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจภาค 5 รุ่น 11(กต.ตร.) และ ประธาน กต.ตร.สภ.แม่สาย จ.เชียงราย (พ่อเลี้ยงเสี่ยบุญมั่น) กล่าวว่าการปลูกผักปลอดสารพิษและทำการเกษตร ตามพระราชปณิธาน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ถือว่าได้ผล และทราบว่าสินค้าในศูนย์นี้น่าจะไม่พอจำหน่ายเพราะมีผู้มารอรับซื้อเกือบทั้งหมด ตนซึ่งมีกิจการตลาดสดจะไปแนะนำพ่อค้าแม่ค้าให้มีการรณรงค์การปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อให้มีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน และหากนำหลักการนี้ไปเพาะปลูกพืชที่บ้านและสวนของประชาชนก็จะทำให้เป็นการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนสู้กับความยากลำบากที่มีคนตกงานจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ได้ด้วย
อาจารย์ ชญาภา โชติธัญญาภักดิ์ (ครูไก่) ซึ่งนำนักเรียนจากโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดแม่สาย มาร่วมงาน และแสดงสินค้าที่ผลิตจากนักเรียน เช่น พรมเช็ดเท้า ฯลฯ กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมงานและอยากให้ประชาชนให้กำลังใจผู้พิการและสนับสนุนสินค้าผู้พิการด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: