ที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านสกุลบายศรี ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ปลูกพืชหลายชนิด รวมทั้งกล้วยซึ่งปลูกไว้จำนวนมาก หลังจากขายผลกล้วยไปแล้ว ต้นกล้วยที่เคยตัดทิ้ง ก็นำกลับมาต่อยอดเป็นมูลค่าเพิ่มได้อีกมากมาย อย่างลำต้นที่เป็นกาบกล้วยนำมาทำเป็นเชือกกล้วยแห้ง จักสานเป็นกระเป๋า ตระกร้า หมวก และอื่น ๆ ได้หลากหลายชนิด ส่งขายยังต่างประเทศ
โดยทางศูนย์การเรียนรู้บ้านสกุลบายศรี ไปตัดต้นกล้วยที่ให้ผลแล้ว ขนาดพอเหมาะเป็นท่อนยาว 2 เมตร จากนั้นใช้มือแกะลำต้นออกทีละกาบ ก่อนจะใช้มีดกรีดที่กาบกล้วยให้เป็นเส้นใยบาง ๆ มีความกว้างประมาณเส้นละ 2 เซนติเมตร มัดรวมกันนำไปแขวนตากแดดให้แห้งประมาณ 4-5 วัน ก็จะได้เชือกกล้วยแห้งที่เหนียว และคงทน สามารถนำไปจักสานและมัดสิ่งของหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้
นอกจากนี้ ปลีกล้วย ลูกกล้วย ไส้กล้วย ใบตองแห้ง ก้านกล้วย ยังนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง ส่วนของใบกล้วยทางกลุ่มก็จะนำไปประดิษฐ์ทำบายศรีในงานพิธีต่าง ๆ เรียกได้ว่ามีร้อยแปดประโยชน์ ที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ชิ้นงานเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้ ให้แก่ชาวบ้านและชุมชนได้ ที่ศูนย์ฯ ยังมีการร้อยมาลัยทำมาจากกระดาษทิชชู เป็นพวงมีสีสันสวยงาม
โดยนายธนกร สดใส อายุ 30 ปี ประธานศูนย์การเรียนรู้บ้านสกุลบายศรี ให้ข้อมูลว่า กลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 30 คน แบ่งแยกเป็นแผนก ด้าน การจักสานทำกระเป๋า ทำตระกร้า การทำบายศรี ประดิษฐ์พวงมาลัยดอกไม้จากกระดาษทิชชู และอื่น ๆ จนเป็นกลุ่มที่ประสบผลสำเร็จสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ส่งขายสร้างรายได้ให้กับกลุ่มได้อย่างยั้งยืน นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ มีการรับซื้อเชือกกล้วยตากแห้งจากชาวบ้าน กิโลกรัมละ 80 – 120 บาท เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบนำมาจักสาน กลุ่มสมาชิกจะได้เป็นค่าแรงราคาจักสานตั้งแต่ราคาใบละ 100 – 300 บาท ขึ้นอยู่กับแบบรูปทรงและความยากง่าย ลวดลายรวงข้าวมีลักษณะเป็นเม็ดคู่กัน และลายเมล็ดข้าวเดี่ยว มีคอเล็กชั่นว่า “ เมล็ดพันธุ์ของพ่อ ” เนื่องจากต้นกล้วยน้ำว้าเมื่อลอกจากต้นออกมาทีละกาบจะมีหลายสี ได้แก่สีเข้มจนถึงสีอ่อน เมื่อนำไปตากแห้งจะมีสีเข้มอมม่วง เป็นชิ้นงานที่นำเชือกกล้วยที่มีสีโทนธรรมชาติลักษณะจากสีอ่อนไปจนถึงสีเข้ม บอกเล่าเรื่องราวผ่านผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นเป็นเส้นใยมาจากธรรมชาติปราศจากการย้อมด้วยสารเคมี ซึ่งหลังจากที่ได้ทำมานานเกือบ 2 ปี ผลตอบรับดีมากทำไม่ทันกับออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งเข้ามา สาเหตุเพราะเป็นงานฝีมือล้วน ๆ ที่ต้องใช้ความประณีตในการทำค่อนข้างนาน ราคาเริ่มตั้งแต่ใบละ 500 – 6,500 บาท จะมีเทคนิควิธีการใช้ง่าย ๆ คือ ถ้าผลิตภัณฑ์ไปโดนฝนหรือเปียกน้ำมา ให้นำไปตากแดดให้แห้งก็จะนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
มีลูกค้าเกือบทุกระดับที่สนใจ ตั้งแต่วัยทำงาน ไปจนถึงวัยหนุ่ม สาว ตลอดจนวัยเกษียณอายุ ส่วนใหญ่ชอบเป็นกระเป๋าสะพายทรงกลมเก๋ ๆ จะจำหน่ายผ่านหน้าหน้าเฟซบุ๊ค ชื่อ กอล์ฟ บ้านช่างสกุลบายศรี และกลุ่มแฟชั่น ตลาดสินค้าโอท็อป การจำหน่ายตามบูธที่ทางราชการจัดขึ้น อีกทั้งยังได้รับโอกาสจากกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาสนับสนุน โดยนำผลิตภัณฑ์ไปแสดงโชว์ที่เมืองทองธานี ล่าสุดเมื่อวันที่ 25-30 กันยายน 2561 ทางกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นตัวแทนประเทศไทยนำผลิตภัณฑ์จากเชือกกล้วยไปเผยแพร่ ที่จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยคณะผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรมได้นำเสนอหัวข้อ “โครงการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งได้คัดเลือกตัวแทนชุมชนคุณธรรมที่ได้คัดเลือก บ้านสกุลบายศรีเจ็ดเสมียนราชบุรี ผู้ผลิตกระเป๋าเชือกกล้วย ไปนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของชุมชน ถือเป็นสำเร็จและความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ที่ได้น้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาประยุกต์ใช้สร้างอาชีพจนเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นที่ยอมรับของคนไทยและยังโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: