บ้านห้วยห้อม น้องโซโพ แกะนำโชค บ้านห้วยห้อม ของที่ระลึกท่องเที่ยวบ้านห้วยห้อม แบบใหม่ล่าสุด ออกแบบและพัฒนาโดย อิกษณา พาสสาจ (iksanapassage) นักออกแบบผลิตภัณฑ์และไลฟ์สไตล์ บริษัท พาสสาจ (ไทยแลนด์) จำกัด ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว (OTOP Tourism Village) ณ หมู่บ้านห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
กำเนิดน้องโซโพ (Storytelling)
อิกษณา พาสสาจ (iksanapassage) นักออกแบบผลิตภัณฑ์และไลฟ์สไตล์ บริษัท พาสสาจ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึง “กิจกรรมพัฒนาของที่ระลึกท่องเที่ยวชุมชน สำหรับบ้านห้วยห้อม จ.แม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว (OTOP Tourism Village) ของกรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงเน้นการพัฒนาแบบการมีส่วนร่วม และใช้ความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง ด้วยเครื่องมือการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ซึ่งมี 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอน 1 – ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
ขั้นตอน 2 – สังเคราะห์ข้อมูล (ย่อยข้อมูล) เมื่อเรียนรู้และทำเข้าใจกลุ่มเป้าหมายแล้ว ต้องวิเคราะห์ปัญหา กำหนดให้ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร แล้วจึงเลือกและสรุปแนวทางความเป็นไปได้
ขั้นตอน 3 – ระดมความคิดใหม่ๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น ในขั้นที่ 2 แล้วจัดลำดับความสำคัญ
ขั้นตอน 4 – สร้างแบบจำลอง หรือการสร้างต้นแบบ
ขั้นตอน 5 – ทดสอบ โดยเรานำแบบจำลองที่สร้างขึ้นมาทดสอบกับผู้ใช้ หรือกลุ่มเป้าหมาย”
อิกษณา พาสสาจ (iksanapassage) กล่าวถึง การใช้เครื่องมือช่วยคิด ทำให้ทราบว่า ของที่ระลึกท่องเที่ยวชุมชน อย่างหนึ่งที่ชาวห้วยห้อมต้องการ คือ ของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวทุกคนสามารถซื้อได้ ซึ่งจากข้อมูลการลงพื้้นที่ ชาวหมู่บ้านห้วยห้อมมีทักษะการทำงานหัตถกรรมหลายอย่าง และอย่างหนึ่งที่อยากทำ คือการถักการทอ โดยเฉพาะการถักนิตติ้ง ซึ่งน้องๆ ได้จัดตั้งกลุ่มน้องโซโพ บ้านห้วยห้อม เพื่อทำน้องโซโพ ซึ่งน้องเดือน เป็นประธานกลุ่ม และมีสมาชิกกลุ่มอีก 20 คน
น้องโซโพ แกะนำโชคบ้านห้วยห้อม (SOPO Lucky Sheep) เป็นสัญลักษณ์ของบ้านห้วยห้อม นอกเหนือจากกาแฟและผ้าทอขนแกะ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิ คุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมในหลวงรัชกาลที่ 9 เยี่ยมบ้านห้วยห้อม และได้พระราชทานแกะพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์พื้นเมืองกับสายพันธุ์บอนด์จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทนต่อสภาพภูมิอากาศและมีขนหนานุ่มกว่าแกะที่เลี้ยงอยู่เดิมมาก ซึ่งน้องโซโพทุกตัวจะมีป้ายเรื่องราวและชื่อผู้ทำติดไว้ด้วย น้องโซโพ แกะนำโชคบ้านห้วยห้อม เป็นตุ๊กตาแกะหน้าเปล่า ไม่มีรายละเอียดบนใบหน้า เพื่อสื่อถึงน้องโซโพที่นำความโชคดีสู่ทุกคน โดยไม่เลือกหน้า ไม่เลือกความแตกต่าง
ดังนั้น หลังจากทำต้นแบบน้องโซโพแล้ว ได้พัฒนาต่อยอดน้องโซโพ โดยใส่เม็ดกาแฟคั่วจำนวน 9 เม็ดไว้ในตัวน้องโซโพ เพื่อให้ ‘น้องโซโพ แกะนำโชคบ้านห้วยห้อม’ เป็นสัญลักษณ์ของบ้านห้วยห้อม เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ พี่อรพินที่รักในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก ได้ต่อยอด โดยทำน้องโซโพสีเหลือง เพื่อน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะอยู่ในใจชาวห้วยห้อมตลอดไป
โซโพ เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า ‘แกะ’ ซึ่งการทอผ้าขนแกะ ทำให้สตรีบ้านห้วยห้อมมีอาชีพเสริมที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกเหนือจากการปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ เนื่องจากบ้านห้วยห้อมอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ซึ่งกาแฟที่มีคุณภาพและรสชาติที่ดีต้องปลูกอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป ปัจจุบัน บ้านห้วยห้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนในโครงการหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
#นักท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: