เพชรบุรี -ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ติดตามการขุดค้นแนวกำแพงเมืองเพชรบุรี เสนอของบประมาณขุดเพิ่ม พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์แห่งใหม่ของเมืองเพชร
เมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นายเอนก สีหามาตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าโครงการขุดตรวจสอบทางโบราณคดีแนวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรี ดำเนินการโดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร โดยมี นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายประทีป การมิตรี ปลัดจังหวัดเพชรบุรี นายชุบ คล้ายคลึง นายก อบต.ช่องสะแก นางศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี นางกรรณิกา เอี้ยวสกุลรัตน์ วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี น.ส.ประภาพรรณ ศรีสุข หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี พลตรีสมปอง พราหมณี ผู้แทนเจ้าของพื้นที่ นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน นักโบราณคดี กรมศิลปากร หัวหน้าทีมขุดค้น พร้อมคณะร่วมให้การต้อนรับ และนำเสนอที่มา ผลการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ณ บริเวณ “ไร่ทองพูน” หมู่ 3 บ้านไร่อ้อย ต.ช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี
ทั้งนี้ สำนักงานศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการบูรณะโบราณสถานฉุกเฉินเร่งด่วนประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินการขุดตรวจสอบทางโบราณคดีแนวกำแพงเมืองเพชรบุรี เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท เพื่อศึกษาลักษณะ ขนาด เทคนิค และวัสดุแนวกำแพงเมืองเพชรบุรี เป็นการปกป้องคุ้มครองอนุรักษ์แนวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรีที่หลงเหลืออยู่ให้ประชาชนและท้องถิ่นได้ศึกษา และเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรีให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมและปลูกผังให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าใจประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 30 วัน ตั้งแต่วันที่15 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม 2563 ซึ่งขณะนี้การดำเนินการขุดสำรวจทางภาคสนามได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการสรุปข้อมูลที่ได้จากการขุดค้น รวมถึงการส่งตัวอย่างก้อนอิฐไปตรวจพิสูจน์หาค่าอายุ เพื่อประเมินยุคสมัยในการก่อสร้าง
ผลการขุดตรวจทางโบราณคดีกำแพงเมืองโบราณเพชรบุรี สันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นส่วนฐานของป้อมปราการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพงเมืองเก่าด้านทิศตะวันออก มีลักษณะการวางตัว 45 องศากับถนนกำแพงเมืองเก่า โดยแนวกำแพงหรือฐานของป้อมเป็นอิฐก่อเรียงสลับด้วยก้อนศิลาแลง มีความกว้าง 1 เมตร และยาวประมาณ 19 เมตร อายุของกำแพงประมาณอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์
ด้าน นายเอนก สีหามาตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่านับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่บ่งบอกประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าเพชรบุรี เพราะนับเป็นแรกที่มีการขุดตรวจสอบพื้นที่แนวกำแพงเมืองเก่าเพชรบุรี และพบหลักฐานแนวอิฐก่อเรียงที่มีความเก่าแก่สมัยอยุธยา โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในการศึกษาสำรวจ จัดทำข้อมูล และดำเนินการขุดตรวจสอบทางโบราณคดีให้ลักษณะของแนวกำแพงเมือง และฐานของป้อม ตลอดจนศึกษาโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น เพื่อที่จะส่งเสริมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองเพชรบุรีแห่งใหม่ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: