ชาวนนทบุรี และกรุงเทพฯ แสดงพลังพร้อมใจเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ(ส่วนเพิ่ม)ระยะที่ 1
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 22 สิงหาคม 2563 นางสาวทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนนทบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนไปจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครบถ้วนครอบคลุมข้อห่วงกังวลทุกมิติ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวง ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยมี นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กล่าวรายงาน มีประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ ผู้นำในพื้นที่ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ผู้นำศาสนา สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 สำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี อาคาร 2 อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้าจำนวน 635 คน ร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
นางสาวทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้านับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาของประเทศ ซึ่งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคการบริการ รวมทั้งการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันล้วนพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง เปิดโอกาสรับฟังข้อคิดเห็น อันแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการร่วมกับ กฟผ. โดยขอให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ช่วยกันซักถาม พร้อมเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงเล่มรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ด้าน ให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงต่อไป
ด้านนางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวงและปริมณฑลในระยะยาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 830 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2571 โดยจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่สำนักงานกลาง กฟผ. และพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือปัจจุบัน เนื่องจากมีความพร้อมในด้านพื้นที่และระบบส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าใหม่นี้จะช่วยสร้างรายได้ และอาชีพให้ชุมชนในพื้นที่ผ่านภาษีและรายได้บำรุงท้องถิ่น รวมถึงการจ้างงานในพื้นที่ และการได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อพัฒนาชุมชนอีกด้วย
นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ ผลการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ศึกษา รัศมี 5 กิโลเมตร โดยครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายได้แสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ โดยบริษัท ซีคอท จำกัด จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนดังกล่าว มาปรับปรุงรายงานและมาตรการฯ เพื่อจัดทำรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ นำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยทางสื่อมวลชนได้สัมภาษณ์นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ.โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1
คำถาม การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือแห่งใหม่ มีความจำเป็นอย่างไร
คำตอบ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) เป็นโรงไฟฟ้าที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 ได้กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของเขตนครหลวงและปริมณฑล ในอีก 8 ปีข้างหน้า (จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ปี 2571) เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก ระบบไฟฟ้าของเขตนครหลวงจึงต้องมีความมั่นคง ซึ่งจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักที่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในพื้นที่
คำถาม พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มีความเหมาะสมอย่างไร
คำตอบ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ก่อสร้างในบริเวณพื้นที่สำนักงานกลาง กฟผ. จังหวัดนนทบุรี ใกล้กับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพราะนอกจากจะอยู่ใกล้แหล่งใช้ไฟฟ้าแล้ว ยังมีความพร้อมด้านระบบส่งไฟฟ้าเนื่องจากมีระบบส่งไฟฟ้าเดิมรองรับอยู่แล้ว จึงไม่ต้องลงทุนก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลง ไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน
คำถาม เนื่องจากเป็นชุมชนเมือง กฟผ. มีการดูแลสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าใหม่อย่างไร
คำตอบ กฟผ. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จะเห็นได้จากการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือปัจจุบันได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) เช่น มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ปากปล่องโรงไฟฟ้า ด้วยระบบ CEM ตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจวัดในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า (ร.ร. วัดเชิงกระบือ อ.บางกรวย ร.ร.กลาโหมอุทิศ วัดสร้อยทอง) ด้านน้ำ น้ำจากกระบวนการผลิตและน้ำจากการอุปโภค บริโภคของโรงไฟฟ้าจะมีการนำมาเก็บที่บ่อพักเพื่อรอการบำบัดก่อนวนนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น รดน้ำต้นไม้ และ ส่วนน้ำทิ้ง มีการบำบัดน้ำให้มีค่าเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้ง รวมทั้งมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้ง ปีละ 3 ครั้ง ด้านเสียง มีการปลูกต้นไม้เป็นแนวกันเสียง และมีการใช้วัสดุครอบโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นกำแพงดูดซับเสียง ลดเสียงดังของเครื่องจักร
นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ตัวแทนหน่วยงานราชการ ตัวแทนจาก กฟผ. เพื่อร่วมกันตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) กฟผ.ได้มีการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ครั้งนี้เป็นการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่2 เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดโครงการ เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ในการแสดงความคิดเห็นและเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาปรับปรุงรายงาน EIA ให้ครอบคลุมข้อวิตกกังวลที่มีต่อโครงการฯ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาฯจะรวบรวมและจัดทำมาตรการรองรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จ ดำเนินการผลิตไฟฟ้าแล้ว ก็จะมีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าเดิม นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาดเป็นเชื้อเพลิงหลัก และยังใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในช่วงการก่อสร้างและช่วงดำเนินการผลิตไฟฟ้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: