เชียงราย-รณรงค์ Kick Off ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียในกระบือ พร้อมกับสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาด
เช้าวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563 นายสมกิจ เกศนาคินทร์ นายอำเภอเมืองเชียงราย เป็นประธานในพิธีการรณรงค์ (kick off) ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง ที่บริเวณปางควายบ้านใหม่นาวา หมู่ที่ 20 ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสัตวแพทย์ พืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย พร้อมกับนายสัตวแพทย์กฤษณิ พิมพ์งาม หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ พร้อมด้วยปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น อาสาปศุสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง การระดมฉีดวัคซีนในครั้งนี้ เพื่อการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ประเภทกระบือ ที่มีการเลี้ยงเป็นการแพร่หลายในทุกพื้นที่สำหรับโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียหรือโรคคอบวม เป็นโรคระบาดรุนแรงของกระบือ แต่จะมีความรุนแรงน้อยลง ในสัตว์อื่น ๆ เช่น โค แพะ แกะ สุกร ม้า กวาง และช้าง เป็นต้น แต่จะไม่ติดต่อระหว่างสัตว์และคน ลักษณะสำคัญของโรคคือ สัตว์จะหายใจหอบลึกมีเสียงดัง คอหรือหน้าบวมแข็ง อัตราการป่วยและอัตราการตายสูง เชื้อชนิดนี้อยู่ในระบบทางเดินหายใจของสัตว์ปกติได้ โดยที่สัตว์ไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อมีภาวะทำให้สัตว์เครียด จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกมาสู่สิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดการระบาดจะเกิดขึ้นได้ง่าย ยิ่งในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต้นฤดูฝน การเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป ในสภาวะความเครียดเช่นนี้ สัตว์ที่เป็นตัวเก็บเชื้อ (Carrier) จะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหารหรือน้ำที่มี เชื้อปนเปื้อนอยู่เข้าไปก็จะติดเชื้อดังกล่าว ซึ่งเชื้อนี้จะมีชีวิตอยู่ในแปลงหญ้าอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในดินที่ชื้นแฉะได้นานถึง 1 เดือนจังหวัดเชียงราย ตรวจพบโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวมในโคและกระบือแล้ว ในพื้นที่บ้านกู่เต้า หมู่ที่ 3 ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน โดยกรมปศุสัตว์มีนโยบายให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียในกระบือทุกตัวที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ในระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2563 และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรค ทำให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันระดับฝูงที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ดีที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: