กรุงเทพฯ – นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน ‘Education Digital Disruption ปลดล็อกการศึกษาไทยด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล’ เปิดตัวแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ที่เรียกว่า DEEP (Digital Education Excellence Platform) ต่อยอดการพัฒนาทุนมนุษย์ TRDI เชื่อมั่นเยาวชนไทยได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาแน่นอน
วันที่ 31 สิงหาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานเปิดงานว่า มุ่งมั่นจะใช้ระบบการศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ หรือ Human Capital สู่ความเป็นเลิศ โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เพื่อรองรับการปฏิรูปทางการศึกษา ตามแผนงานการศึกษายกกำลังสอง โดยมี DEEP ดิจิทัลแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบูรณาการการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
“DEEP ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมของระบบการศึกษา สร้างความยืดหยุ่นในการเรียนการสอนมากขึ้น มีหลักสูตรต่าง ๆ รองรับ ผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อเรียนตามสมรรถนะที่ต้องการพัฒนาได้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ที่สำคัญ จะเป็นการตอบโจทย์สมรรถนะของบุคลากรที่ภาคเอกชนหรือตลาดต้องการ ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามาเรียนเพื่อการ Re-Skill เพิ่มทักษะของตัวเองได้เช่นกัน เพราะ DEEP เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
ในช่วงระยะแรกของ DEEP เริ่มต้นให้การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ และทักษะด้านดิจิทัล ให้แก่นักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตหลักสูตรชั้นนำและได้รับการยอมรับทั่วโลก ด้านมาตรฐานการประเมินผล อาทิ Google, Microsoft, Cambridge Assessment English, Pearson, British Council, IC3, ICDL, Arkki และมหาวิทยาลัยในเครือราชภัฏ ในการอัพโหลดเนื้อหาขึ้นบนแพลตฟอร์ม
ด้านนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า DEEP เป็นดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทางการศึกษา ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนการบริหารงาน และการพัฒนาทรัพยากรครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา โดยด้านกระบวนการบริหารจัดการภายใน กระทรวงศึกษาธิการจะมีฐานข้อมูลของบุคลากร และเด็กนักเรียนทั้งหมดที่ครบถ้วนทันที เป็นบิ๊กดาต้า ผ่านระบบดิจิทัล จากปัจจุบันที่การบันทึกเก็บข้อมูลด้วยระบบเอกสารมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ทันเวลาเพื่อปรับเปลี่ยน หรือวางนโยบายเพื่อพัฒนาบุคลากรได้
ข่าวน่าสนใจ:
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
ระบบ DEEP จะทำงานผ่าน 3 ส่วน ได้แก่ ระบบ Classroom Management, School Management และ Office Management เพื่อระบบบริหารจัดการภายในทั้งด้านงบประมาณ ครุภัณฑ์ ระบบระเบียนเด็ก ซึ่งลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวก็สามารถดึงข้อมูลมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง DEEP ยังช่วยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรทางการศึกษา เป็นการเปลี่ยนกรอบวิธีคิดด้านการเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมทางการเรียน เปลี่ยนรูปแบบให้ห้องเรียนเป็นที่ฝึกฝนคล้ายคลึงกับห้องปฏิบัติการ หรือเรียนรู้ผ่านโครงงานในภาคปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่มีในระบบ DEEP สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับจากนี้ 12 เดือน ข้อมูลจะสามารถคลิกดูด้วยปลายนิ้วทันที
ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า การศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยน โดยต้องเน้นการพัฒนาทักษะใน 4 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) การทำงานเป็นทีม (Collaboration) และมีทักษะการสื่อสารที่ดี (Communication) หากทำได้เชื่อว่า เยาวชนไทยจะได้รับการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งการศึกษายกกำลังสองของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเยาวชนผ่านระบบดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้ตนนั้นมีความหวังต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย
การใช้งานบนแพลตฟอร์ม DEEP เป็นระบบการล็อกอินเดียว (Single Sign-on) โดยเมื่อลงทะเบียนบน DEEP ในครั้งแรก และได้รับอีเมลจากระบบ ก็สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่าง กูเกิล ไมโครซอฟต์ ผ่านแพลตฟอร์ม DEEP ได้ และในอนาคตกระทรวงศึกษาธิการยังได้วางแผนให้ DEEP เป็นแพลตฟอร์มสำคัญ ที่นอกจากจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้นักเรียนและครูในระบบแล้ว ยังช่วย “ปรับเปลี่ยน” ระบบการเรียนการสอนของไทย ให้นักเรียน นักศึกษา หาความรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียน และนำมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครู ที่จะรับหน้าที่ในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางการเรียนหรือ Facilitator ได้ด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: