X
พ่อญี่ปุ่น

พ่อญี่ปุ่น ร้องแม่เด็กลักพาลูกข้ามชาติ อัยการสูงสุดสั่งตรวจสอบ

หนองบัวลำภู- พ่อญี่ปุ่น ร้องขอให้ติดตามลูกชายคืน หลังแม่คนไทยนำมาบ้านแล้วไม่พากลับ ขณะที่ญาติระบุอยู่กับสามีให้เงินใช้เดือนละหกพันบาท ขอหย่าก็ไม่ยอมจนต้องตัดสินใจกลับมาเมืองไทย ก่อนจะบินไปทำงานเกาหลีหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว

พ่อญี่ปุ่น ร้องอยากได้ลูกคืน

เมื่อวันที่ 23 ต.ค.61 ผู้สื่อข่าวได้เข้าไปตรวจสอบที่ในหมู่บ้านยางชุม หมู่ 12 ต.เก่ากลอย อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู หลังทราบข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่คือ พ.ต.ท.สุมนชาย จำนงนิจ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.นากลาง พร้อม พ.ต.ท.ชนาธิป ภาโนมัย รอง ผกก.สส. พ.ต.ต.สุวิจักขณ์ จันทร์ไทยธชา. สว.สส. ร.ต.อ.วีรยุทธ ทิพย์ลม รอง สว.(สอบสวน) นายชยังกูร เสริมสุข ปลัดอำเภอนากลาง น.ส.จุฑาทิพย์. อามาตยมนตรี นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดหนองบัวลำภู ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลเมื่อวันที่ 19 และ 22 ต.ค.61 กรณีมีพ่อชาวญี่ปุ่นได้ร้องผ่านรัฐบาลให้ประสานอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ส่งตัว ด.ช.โตะ อายุ 1 ปี 3 เดือน กลับคืนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมารดาได้นำเด็กออกจากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดา อันเป็นการขัดต่ออนุสัญญา ว่าด้วยลักษณะทางแพ่ง ในการลักพาเด็กข้ามชาติ ค.ศ.1980 ซึ่งตามขั้นตอนต้องเข้ามาตรวจสอบแหล่งที่อยู่อาศัยที่เด็กถูกนำมาอาศัยอยู่ก่อนทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้พบกับตาและยาย รวมทั้งญาติ ๆ พร้อมกับ ด.ช.โตะ ก็ได้เล่าเรื่องราวเหตุผลที่แม่ของเด็กซึ่งตอนนี้ไปทำงานที่ประเทศเกาหลี มียายและญาติช่วยกันเลี้ยงดู ด.ช.โตะ โดยบอกว่า เมื่อ ปี 58 พ่อของเด็กก็เป็นลูกเขยของบ้านนี้ ได้ติดต่อผ่านคนญี่ปุ่นมาขอแต่งงานกับ น.ส.กร (นามสมมุติ) อายุตอนนั้น 18 ปี (แม่ของเด็ก) ซึ่งเพิ่งเรียนจบ ม.6 ได้นำสินสอดค่าใช้จ่ายประมาณ 4 แสนบาทมามอบให้ และได้จัดงานแต่งที่บ้านยางชุมแห่งนี้ จากนั้นก็เดินทางไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องเมื่อ 27 พ.ค.58 ที่เขตชินากาวะ กรุงโตเกียวยายเล่าเรื่องราวต่อไปว่า หลังจากอยู่กินกับสามีบุตรสาวของตนซึ่งก็คือแม่ของ ด.ช.โตะ ก็ได้โทรศัพท์พูดคุยกับทางบ้านอยู่เสมอ บอกว่าสามีให้เงินใช้คิดเป็นเงินไทยตกเดือนละหกพันบาท จะหางานทำยังไม่ได้จึงไม่มีรายได้เพิ่ม เงินหกพันบาทในกรุงโตเกียวมันไม่พอใช้ แค่ค่ารถไฟไปซื้อของมาใช้ในบ้านก็หมดแล้ว แถมสามียังซักถามตลอดว่าใช้เงินไปซื้ออะไรบ้าง แต่บุตรสาวก็อดทนจนกระทั่งตั้งท้อง ก็ยังเป็นสภาพเหมือนเดิมเงินให้ใช้เท่าเดิม กระทั่งคลอดลูกยังเป็นเหมือนเดิม ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ขอลำบาก ซักถามตลอดว่าเอาไปซื้ออะไร บ่อยครั้งที่ต้องอุ้มลูกตัวเล็ก ๆ เดินฝ่าหิมะไปซื้อของ จะขอเอกสารลูกมาเพื่อขอสัญชาติไทยเขาก็ไม่ยอมให้ จนลูกทนไม่ไหวขอหย่าก็ไม่ยอมหย่า กระทั่งบอกว่าจะกลับมาเมืองไทย ซึ่งก็ทราบว่าสามีซื้อตั๋วเครื่องบินไป-กลับให้ ก่อนจะเดินทางหลับมาเมื่อเดือน มี.ค.61 ตอนนั้น ด.ช.โต๊ะ อายุเพียง 6 เดือน มีพาสปอร์ตมาด้วยเมื่อกลับมาเมืองไทยลูกบอกว่าไม่มีเงินติดตัวกลับมา ถามทางสามีก็ไม่มีคำตอบ เงินส่งเสียเลี้ยงดูลูกก็ไม่ส่งมาให้ ทางครอบครัวเมืองไทยก็เลี้ยงดูกันเอง เคยส่งของขวัญวันเกิดลูกมาให้ มีเงินไทยสอดอยู่ข้างใน 5,000 บาท ครั้งเดียวเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อสี่เดือนที่แล้วแม่ของเด็กตัดสินใจบินไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ส่งเงินกลับมาเป็นค่าดูแลลูกและบางส่วนก็ปรับปรุงบ้าน ทุกคนรักและผูกพัน ด.ช.โตะ กินนอนอยู่ด้วยกัน มารู้ว่าพ่อของเด็กไปร้องขอให้ส่งลูกกลับญี่ปุ่น ก็ตอนที่เจ้าหน้าที่เข้ามาหาที่บ้าน ทุกคนตกใจไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ก็อยากให้นึกถึงเด็กบ้างจะไปอยู่ญี่ปุ่นโดยที่ไม่มีแม่จะอยู่ได้อย่างไร ทางนี้เพียงต้องการให้เขามีสัญชาติไทยบ้าง เป็นคนสองสัญชาติเวลามาเมืองไทยก็จะง่าย  พวกตนก็อยากเห็นอนาคตที่ดีของเขาแม้จะกลับไปอยู่ญี่ปุ่นก็ให้นึกถึงเมืองไทย บ้านเกิดเมืองนอนของแม่เขาบ้าง เขาก็คนไทยคนหนึ่งเหมือนกันนะ ยายของเด็ก กล่าว
สำหรับกฎหมายที่นำมาใช้และเป็นขั้นตอนดำเนินการ เป็นไปตาม พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. 2555 มาตรา 10 ในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและปลัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการสืบหาแหล่งที่อยู่ของเด็ก ตามที่ได้รับแจ้งจากผู้ประสานงานกลาง และแจ้งผลการดำเนินการไปยังผู้ประสานงานกลาง
(2) ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งส่งตัวเด็กกลับคืน
(3) ให้พนักงานอัยการดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามคำร้องขอความช่วยเหลือที่ผู้ประสานงานกลางส่งให้ เมื่อได้ทราบที่อยู่ของเด็กแล้วก่อนการดำเนินการในประการอื่น พนักงานอัยการอาจยื่นคำขอต่อศาล ขอให้มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดย้ายเด็กไปเสียจากแหล่งที่อยู่ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(4) หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการฝ่าฝืนคำสั่งศาลตาม (3) หรือเด็กอาจได้รับอันตราย หรือมีการกระทำอื่นใดอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานอัยการ ยื่นคำขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานอัยการดำเนินการตามที่จำเป็น และสมควรเพื่อนำตัวเด็กส่งไว้ในความคุ้มครองดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และให้เจ้าพนักงานตำรวจให้ความช่วยเหลือพนักงานอัยการในการดำเนินการดังกล่าวเมื่อได้รับการร้องขอ

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามข้อ (1)อย่างไรก็ตามในวันที่ 25 ต.ค.61 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อสอบถามข้อสงสัยในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นมี น.ส.ชลิตา ลือสากลวณิชกุล รองอัยการจังหวัด ให้คำปรึกษา ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในครอบครัว เมื่อมีการร้องทุกข์ก็มีขั้นตอนกระบวนการดำเนินการ และมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายในแต่ละประเทศ จะต้องพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน สำหรับกรณีสิทธิของประชาชนไทย ลูกที่เกิดขึ้นโดยคนไทยนั้น กฎหมายไทยกำหนดให้ “บุคคลที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด” ตรงนี้หากบุพการีมีข้อสงสัยว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็สามารถเข้ามาติดต่อที่ สนง.อัยการคุ้มครองสิทธิฯ ชั้น 1 สนง.อัยการจังหวัดหนองบัวลำภู ศูนย์ราชการจังหวัด ในวันเวลาราชการ ซึ่งพร้อมที่จะให้คำแนะนำการดำเนินการได้

 

ติดตามข่าวสารจังหวัดหนองบัวลำภู

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of วิโรจน์ คงพุฒิคุณ

วิโรจน์ คงพุฒิคุณ

คนหนองบัวลำภู โดยกำเนิด เข้าสู่แวดวงนักข่าวเมื่อปี 2529 เป็นนักข่าวคนเดียวของอำเภอ กระทั่งปี 1 มกราคม 2536 สถาปนาจังหวัด ก็เลยได้เป็นนักข่าวคนแรกของจังหวัดหนองบัวลำภู โดยปริยายจวบจนทุกวันนี้ ชอบถ่ายภาพ ชอบค้นหา คติประจำใจ "ทำยังไงให้คนรู้ว่านี่คือจังหวัดหนองบัวลำภู" จึงได้ตั้งเฟสบุ๊คกลุ่ม "ที่นี่..เมืองลุ่มภู" ขึ้นมาเพื่อทำให้คนได้รู้จัก