กลุ่มเครือข่ายตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ จ.ตรัง ทำกิจกรรม “ลงแขก ถอนกล้า ดำนา เพื่อตามหาที่มาข้าวในจาน” โดยการนำเด็กๆ และเยาวชนร่วมเรียนรู้การวิธีการปลูกข้าวทำนา ให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ ไม่ใช้สารเคมีทั้งยาฆ่าหญ้าและฆ่าแมลง เพื่อร่วมสืบสานมรดกการทำนาปลูกข้าวของแผ่นดิน อาหารหลักของคนไทยก่อนจะหายสาบสูญไป เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ทำนาในจ.ตรังเหลือน้อย ส่วนใหญ่ประชาชนจะซื้อข้าวกิน
วันที่ 8 กันยายน 2563 ที่แปลงเพาะกล้าข้าวนา กลางสวนยางพารา หมู่ 2 ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ จ.ตรัง กลุ่มเครือข่ายตลาดนัดอินทรีย์จังหวัดตรัง ร่วมกับชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะสุดท้าย วัดห้วยยอด ได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรม “ลงแขก ถอนกล้า ดำนา เพื่อตามหาที่มาข้าวในจาน” ครั้งที่ 2 โดยคุณพ่อ คุณแม่ ก็พร้อมใจกันนำเด็กๆและเยาวชนมาเรียนรู้วิธีการปลูกข้าวดำนา โดยเจ้าของนาคือ นางพรรณี คงเอียด อายุ 54 ปี ชาวหมู่ 2 ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ เป็นคนถ่ายทอด ทั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการนำเด็กๆ ไปดูการถอนกล้า แต่มีการอธิบายสาธิตถึงขั้นตอนและวิธีการทำ ก่อนจะมาเป็นต้นกล้าที่ขณะนี้ป้าผุยได้ใช้วิธีการหว่านแซมไว้ในพื้นที่ว่างระหว่างแถวสวนยางพาราเอาไว้จนครบ 1 เดือน รอต้นกล้าโตก็จะทำการถอนกล้านำไปปักดำ ทั้งนี้ ป้าผุย ให้ความรู้กับเด็กๆ ถึงขั้นตอนวิธีการทำก่อนจะเป็นข้าวในจานที่ทุกคนรับประทานกันว่า ต้องนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ป้าผุยได้จากการเก็บเกี่ยวปีที่แล้ว แล้วคัดแยกไว้เพื่อนำมาทำเป็นเมล็ดพันธุ์ในปีนี้ โดยการเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแช่น้ำ 2 คืน จากนั้นพักไว้ 1 คืน แล้วนำมาหว่านในพื้นที่ที่เตรียมเอาไว้ในสวนยางพารา รอ 1 เดือน ต้นกล้าก็จะโตออกมาเป็นต้นกล้า ทั้งนี้ ระหว่างที่รอ 1 เดือน ให้ต้นกล้าโตได้ขนาด มีการเตรียมไถนา กลบหญ้า เปิดน้ำทิ้งไว้ในนาแช่ไว้ให้หญ้าเน่าตายกลายเป็นปุ๋ย จากนั้นเมื่อคราดนาจนกลายเป็นโคลนแล้วจะได้ดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยตามธรรมชาติ โดยปกติป้าผุยเล่าว่า ที่อื่นเขาจะเพาะต้นกล้าในนา จากนั้นก็ถอนไปปลูก แต่ของป้าผุยจะไม่หว่านทำต้นกล้าในนา และไม่ใช้วิธีการทำนาหว่าน เพราะหากหว่านทำต้นกล้าในนา รวมทั้งทำนาหว่านจะมีต้นหญ้าขึ้นรก ทำให้ชาวนาบางรายใช้วิธีการ ใช้สารเคมีฆ่าหญ้า ป้าผุยจึงเลือกใช้วิธีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาเพาะลงบนพื้นที่ว่างในแปลงยางพารา เป็นการหว่านกล้าบนบกแทน และเป็นการประหยัดพื้นที่ด้วย จะได้พื้นที่นาเพื่อดำนาทั้งหมดพร้อมๆกัน นอกจากนั้นป้าผุยยังบอกอีกว่า การทำนาของป้าผุยจะทำปีละครั้ง จะไม่ทำ 2 ครั้ง เหมือนที่อื่น เพราะหากทำปีละครั้งจะทำให้เราสามารถไถซังข้าวทำเป็นปุ๋ยทิ้งไว้ในนา รอฝนตกจึงทำการไถนา เตรียมพื้นที่ปลูก เท่ากับเราจะได้หมักดินไว้ในนานานถึง 6 เดือน จากนั้นเมื่อใช้เวลาเตรียมดิน 1 เดือน และปักดำนา รอข้าวออกรวงเพื่อเก็บเกี่ยวอีก 4 เดือน จะทำให้นาข้าวของป้าผุยอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยตามธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยมาหว่าน และไม่ต้องใช้สารเคมีดังกล่าว และทำให้ได้ข้าวในปริมาณที่มาก จากนั้นทั้งหมด ได้สอนเด็กๆ ถอนกล้า มัดกล้า และนำต้นกล้าข้าวไปปักดำในนาที่เตรียมไว้ โดยกิจกรรมดังกล่าวนอกจากเป็นการถ่ายทอดอาชีพการทำนาตั้งแต่บรรพบุรุษให้เด็กๆ ได้รับรู้ ได้เรียนรู้แล้ว ยังได้ลงมือทำ จะได้รู้คุณค่าของข้าว และชาวนาไทย ที่ทำนาปลูกข้าวไว้เลี้ยงคนไทยว่ามีความยากลำบากขนาดไหน กว่าจะมาเป็นเมล็ดข้าวในจานให้ทุกคนได้รับประทานกันในทุกวันนี้ และได้เรียนรู้วิธีการลงแขกดำนา สร้างความรักความสามัคคีของคนในท้องถิ่นอีกด้วย
นางพรรณี คงเอียด (ป้าผุย) อายุ 54 ปี ชาวหมู่ 2 ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ เจ้าของนา กล่าวว่า ตนเองทำนามาตลอดตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยมีกันพี่น้องทั้งหมด 9 คน ต่อมาการทำนาเริ่มลดลง พวกตนก็จะทำกันคนละไร่สองไร่ เพื่อเอาไว้กินในครัวเรือน แต่เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจทั้ง 9 คน พี่น้อง ก็มารวมตัวกัน ทำนาปลูกข้าว และปลูกข้าวไร่ด้วย เพื่อเอาไว้กินและเอาไว้ขาย โดยทุกคนมีอาชีพหลักคือ ทำสวนยางพารา แต่ยางพาราราคาตกต่ำ ไม่แน่นอน และสภาพเศรษฐกิจไม่ดี จึงคิดว่าเราควรมีข้าวไว้กิน และหารายได้เพิ่ม จึงรวมกลุ่มกันทำนา ทำไร่ นอกจากนั้นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่หันมาปลูกข้าวไว้กินเอง เนื่องจากพี่สาวคนโตเป็นอัมพฤกษ์ จึงไปซื้อข้าวไรเบอร์รี่ ซึ่งใครๆ มองว่ามีสารอาหารสูงมารับประทาน กิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้สู้ราคาไม่ได้ จึงคิดว่าเราก็ทำนาอยู่แล้วจึงซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวไรเบอร์รี่มาปลูก และยังปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองอีกหลายชนิด เช่น ข้าวไร่ ประกอบด้วย ข้าวดอกข่า ข้าวหอมหัวบอน ข้าวหอมเจ็ดบ้าน ข้าวเมล็ดฝ้าย ส่วนข้าวนา ประกอบด้วย ข้าวหอมเบญรงค์ สังข์หยด 50 ข้าวหอมกระดังงา ข้าวทับทิมชุมแพ (ข้าวไรเบอร์รี่) และข้าวเล็บนก ซึ่งปลูกไว้กินเอง ส่วนวิธีการปลูกทั้ง 9 คนพี่น้อง คือ จะแบ่งกันปลูกคนละสายพันธุ์ เพื่อไม่ต้องแย่งตลาดกันขาย ให้ลูกค้าเลือกซื้อได้ตามสะดวก แต่ละสายพันธุ์จะได้ผลผลิตต่อปีประมาณ 5 ตันต่อคน โดยรวมพื้นที่ปลูก 9 คนพี่น้อง ทั้งข้าวไร่ และข้าวนาปี รวมประมาณ 200 ไร่ พื้นที่ที่ปลูกก็จะมีทั้งของตนเองที่ทุกคนรับมรดกมา กับใช้วิธีเช่า ไร่ละ 500 บาทต่อปี ส่วนที่จัดกิจกรรมลงแขกดำนา และนำเด็กๆ มาเรียนรู้วิธีการทำนาด้วยนั้น เพื่อต้องการถ่ายทอดวิธีการทำนาแบบดั้งเดิมด้วยการดำนา เพราะของตนเองจะไม่ใช้วิธีหว่าน เพราะหากดำเสร็จก็จะขังน้ำไว้ในนา เพื่อไม่ให้หญ้าขึ้น เพราะหญ้าหากจมน้ำนานๆ มันก็จะเน่าตาย ซึ่งเริ่มขังน้ำในนาตั้งแต่การเตรียมดินมาแล้ว เพื่อไม่มีวัชพืชขึ้น เราไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้ากำจัดวัชพืช ไม่ต้องการให้มีสารเคมีตกค้าง โดยต้องการถ่ายทอดสู่เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิธีการทำนาแบบดั้งเดิม ได้รู้คุณค่าของข้าวที่กว่าจะมาเป็นข้าวในจานให้ทุกคนได้กินกันว่ายากลำบากขนาดไหน ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษไทยที่นับวันจะสูญหาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตรัง พื้นที่ทำนาเหลือน้อยมาก ส่วนใหญ่คนจะซื้อข้าวกิน จึงต้องการอนุรักษ์ไว้ และถ่ายทอดสู่ลูกหลานเยาวชนต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: