คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่เร่งรัดการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร ใน 2 อำเภอ คือ อ.ห้วยยอด และ อ.วังวิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันหมดสัมปทาน เนื้อที่รวมกว่า 638 ไร่ ที่กลุ่มเครือข่ายนายทุนผู้รับสัมปทานรายเดิม ยังอ้างกรรมสิทธิ์เข้าไปครอบครองพื้นที่ทำประโยชน์ ขัดแย้งกับชาวบ้านผู้ยากไร้เรียกร้องที่ดินทำกินในพื้นที่ หวั่นขัดแย้งบานปลายยิ่งขึ้น ล่าสุด ตำรวจ สภ.วังวิเศษ จับกุมกำนันคนดัง อ.ห้วยยอด ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า เข้าไปครอบครองเก็บผลประโยชน์ในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการบุกรุกต่อเนื่องโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งการทำลายป้ายประกาศห้ามเก็บของป่า ซึ่งเป็นสมบัติของทางราชการ และการบุกรุกทำขนำภายในพื้นที่เพื่อจัดคนเฝ้า โดยเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีใคร เพิ่มแต่อย่างใด ด้านคณะกรรมาธิการเสนอให้ชาวบ้านเร่งเสนอเรื่องพร้อมรวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน เสนอ คทช.เพื่อขอจัดสรรที่ดินทำกินต่อไป
วันที่ 8 กันยายน 2563 คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ กรรมาธิการ และนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ เขต 2 พรรคภูมิใจไทย รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 5 ร่วมลงพื้นที่เร่งรัดการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรใน 2 อำเภอ คือ อ.ห้วยยอด ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ป่า กับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันที่หมดสัมปทาน
โดยเริ่มที่ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ 8 บ้านหนองเนียงแตก ต.นาวง อ.ห้วยยอด เพื่อรับฟังปัญหาจากตัวแทนชาวบ้านจำนวน 5 หมู่บ้าน รวมประมาณ 500 ครัวเรือน ที่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตป่าหนองเนียงแตก – ป่าห้วยเคี่ยม และป่าหนองหนักทอง ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าเมื่อปี 2510 โดยมีนายประสาร เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 และนายวริทธิ์ คิดถูก ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรัง ร่วมให้ข้อมูลด้วย แต่ชาวบ้านยืนยันว่าทั้งหมดอาศัยทำกินมาแล้วหลายชั่วอายุคน พื้นที่โดยทั่วไป ประกอบด้วย บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา พื้นที่การเกษตรอื่นๆ โรงเรียน 3 โรง สถานีอนามัย 2 แห่ง วัด 1 แห่ง แต่บางคนมี ส.ค.1 บางคนมี น.ส.3 ก. บางคนเคยเสียภาษีที่ดิน (ภบท.5) ซึ่งยังคงเก็บเอกสารการเสียภาษีที่ดินดังกล่าวเอาไว้ บางคนมีโฉนดที่ดิน บางส่วนถือ สปก. แต่จำนวนส่วนใหญ่กว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งๆที่อยู่ในพื้นที่ป่าเดียวกัน บางส่วนไม่มีไฟฟ้าใช้ และขอปักเสาพาดสายไม่ได้ เพราะอยู่ติดเขตป่า ไม่ได้รับสิทธิ์ความช่วยเหลือตามนโยบาย ตัดโค่นยางเก่า เพื่อปลูกทดแทนใหม่ไม่ได้ เป็นต้น ทางด้านนายประสาร เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่พยายามดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน แต่ที่ทำไม่สำเร็จเนื่องจากแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ระหว่างเขต สปก.กับเขตป่าสงวนมีความคลาดเคลื่อน ไม่ชัดเจน จึงทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ สปก.ที่เข้ามาวัดพื้นที่ที่ชี้ชัดไม่ได้ ในที่สุด คณะกมธ.ที่ดิน สรุปว่า แนวทางการแก้ปัญหาของชาวบ้าน ในต.นาวง อ.ห้วยยอด จะต้องเริ่มต้นที่ความชัดเจนของแนวเขตพื้นที่ ทั้งพื้นที่ป่า รวมทั้งพื้นที่ สปก. และพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยจะใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศทั้งหมด 5 ชั้นปี เป็นตัวชี้ขาด หากชาวบ้านทำกินมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่า ก็จะต้องดำเนินการยกเลิกเพิกถอนสภาพป่า และออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน แต่หากเข้ามาอยู่หลัง แต่พื้นที่ทั้งหมดถูกชาวบ้านยึดครองทำกิน หรือเป็นที่อยู่อาศัยทั้งหมดแล้วนั้นจะต้องเข้ากระบวนการแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งจัดสรรในรูปแบบ สปก. หรือเข้าคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อจัดสรรให้ประชาชนมีสิทธิ์ในที่ดินต่อไป ทั้งนี้ คณะ กมธ.ที่ดิน จะออกหนังสือเชิญเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ,สปก. ,ตัวแทนจากกรมพัฒนาที่ดิน และชาวบ้าน มาประชุมร่วมกันในวันที่ 11 กันยายนนี้ เพื่อร่วมกันจัดทำแนวเขตของพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาต่อไป
จากนั้น คณะได้เดินทางไปต่อไปยัง พื้นที่สวนปาล์มน้ำมันที่หมดสัมปทาน ในพื้นที่ หมู่ 3 ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เนื้อที่รวมกว่า 638 ไร่ ที่หมดอายุสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2558 โดยกรมป่าไม้ยังไม่อนุญาตให้สัมปทานต่อ ที่ขณะนี้กลุ่มนายทุนผู้รับสัมปทานรายเก่า (บริษัท ตรังค์ธารทอง จำกัด ) ยังอ้างสิทธิการครอบครองสวนปาล์มน้ำมัน ได้เข้าไปไถปรับพื้นที่ปราบวัชพืช จัดเก็บผลผลิต ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ระหว่างฝ่ายนายทุน และฝ่ายชาวบ้านที่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ดำเนินการจับกุม และนำที่ดินมาจัดสรรให้ชาวบ้านยากไร้ทำกิน โดยเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกไว้แล้ว ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องแบบประชดประชันเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่อคณะ กมธ.ที่ดิน กรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ดำเนินการเอาผิดกลุ่มผู้รับสัมปทานรายเก่า ที่ยังเข้าไปจัดเก็บผลประโยชน์ต่อเนื่อง ทำสิ่งปลูกสร้างเพิ่ม โดยขอเรียกร้องเข้าไปจัดเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ชนสนั่น! เก๋งปะทะกระบะ ถนนตรัง-สตูล ดับ 2 เจ็บอีก 9 ราย
- ตรัง โครอตายยกฝูง โรคปากเท้าเปื่อยระบาดหนักขยายวงกว้าง
- ไร้ปาฏิหาริย์ สิ้น “อ.สุนทรี สังข์อยุทธ์” อดีตหัวหน้าหอจม.เหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ กวีซีไรต์ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” โพสต์อาลัย
- ตรัง เกษตรกรเกาะลิบง เลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี รายเดียวในตรัง สร้างรายได้งาม
จากการตรวจสอบพื้นที่โดยรวมพบว่า ทางกลุ่มนายทุนผู้รับสัมปทานได้ทำการบุกรุกใหม่เพิ่มเติมด้วยการเข้าไปก่อสร้างขนำ สำหรับจัดคนเฝ้าพื้นที่อีกจำนวน 4 หลัง คาดทยอยสร้างให้เต็มพื้นที่ จากเดิมการลงพื้นที่ตรวจสอบของหัวหน้าคณะทำงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา พบเพียงการบุกรุกไถปรับพื้นที่ ตัดแต่งต้นปาล์มน้ำมัน และเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่านั้น แต่ขณะนี้มีการบุกรุกเพิ่มด้วยการก่อสร้างขนำใหม่ บางหลังถูกชาวบ้านที่คัดค้านทุบทำลายหลังคาจนพังเสียหายจนกระเบื้องมุงหลังคากระจายเกลื่อน นอกจากนั้น ชาวบ้านแจ้งว่าป้ายประกาศห้ามเก็บของป่าที่ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้นำไปติดประกาศไว้ ตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของราชการ ก็ถูกนายทุนทำลายและเก็บไปทิ้ง โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ส่วนการบุกรุกทำขนำใหม่นี้ ก็พบว่าทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีใดๆต่อกลุ่มนายทุนดังกล่าว
ทางด้าน พ.ต.ท.รองสุรชาติ บุญโรจน์พงศ์ รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม สภ.วังวิเศษ ได้แจ้งความคืบหน้าของคดีให้คณะกมธ.ได้รับทราบว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ตำรวจได้จับกุมนายบัณฑิต รองพล (กำนันแล้น) กำนันตำบลนาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และมีตำแหน่งเป็นประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ห้วยยอด ในข้อหา บุกรุกพื้นที่ป่าแล้ว โดยตัวผู้ต้องหา ให้การว่า ได้รับมอบหมายจากบริษัท ตรังค์ธารทองให้เข้ามาดูแลพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกมธ.ใช้เวลาพบปะและชี้แจงถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านที่เรียกร้องที่ดินทำกินได้รับทราบนานประมาณ 1 ชม. จึงได้ข้อสรุปว่า ให้ชาวบ้านไปดำเนินการร่างหนังสือ เพื่อเสนอต่อกรมป่าไม้ เพื่อนำที่ดินแปลงสวนปาล์มหมดสัมปทานดังกล่าว ทั้งแปลงให้ทำแปลงป่าชุมชน และให้ชาวบ้านผู้ยากไร้เรียกร้องที่ดินทำกิน เข้าชื่อพร้อมทำหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อขอจัดสรรที่ดินทำกินต่อไป โดยชาวบ้านที่มีสิทธิ์ยื่นขอคือ ผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน และทหารผ่านศึกที่ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งคาดว่าจะมีรวมกันมากกว่า 100 คน แต่จะเอาชาวบ้าน และทหารผ่านศึกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.วังมะปราง และต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ พื้นที่ใกล้เคียงได้สิทธิก่อน
ทางด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวว่า จากการตรวจดูพื้นที่ที่เห็นได้ชัดจากวันก่อนที่เข้ามาว่ายังมีร่องรอยของการเข้ามาทำประโยชน์อยู่ และสร้างขนำเพิ่ม ก็ได้ฝากทางป่าไม้และทางตำรวจไปแล้วว่าให้ช่วยดูด้วย เนื่องจากว่าการก่อสร้างในลักษณะนี้มันเป็นลักษณะที่ไม่สามารถทำได้เลย อย่างนี้ขัดต่อกฎหมายแน่นอน ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปดำเนินการ ส่วนทางตำรวจก็ยืนยันว่าคดีได้มีการแจ้งความเอาไว้ ก็จะไม่มีการประวิงเวลาอะไร ก็ดำเนินการไปตามกระบวนการปกติที่เหลือก็ได้ให้แนวชาวบ้านไว้ซึ่งมีการหารือกับทางป่าไม้ไว้แล้วว่าที่แปลงนี้ 600 กว่าไร่ ส่วนหนึ่งจะต้องขอทำเป็นป่าชุมชน แต่ส่วนหนึ่งจะต้องยื่นเรื่องกับ คทช. เพื่อขอจัดสรรที่ดินทำกิน โดยให้เวลา 1 เดือน ให้ชาวบ้านไปดำเนินการรวบรวมรายชื่อชาวบ้าน ตนเองก็หวังว่าความขัดแย้งที่นี่ก็จะคลี่คลายไปได้ เพราะว่าหลักการใหญ่ก็คือ ประเทศเราควรจะเห็นใจต่อคนยากคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินก่อนเป็นอันดับแรก และเจ้าหน้าที่ต้องรักษากฎหมาย ในส่วนที่มีการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ตนเองเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของป่าไม้ที่ต้องไปดูแล ส่วนการแก้ไขปัญหาในภาพรวมพื้นที่ป่าสัมปทานทั่วประเทศ คณะกรรมาธิการมีการคุยกันหลายรอบในเรื่องนี้และมีการลงพื้นที่อย่างไปดูที่ ปลายพระยา จ.กระบี่ คือ ความชัดเจนจะอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่กรมป่าไม้ จะต้องมีนโยบายชัดว่า 1.พื้นที่ที่ทำประโยชน์และหมดสัญญาแล้วไม่อนุญาตไม่ว่ารายใดก็ตาม 2.เมื่อหมดสัญญาการเข้าทำประโยชน์แล้วไม่อนุญาตให้เก็บหาของป่า และ 3.ก็ต้องรักษาพื้นที่ ส่วน 4.เอาพื้นที่นั้นไปใช้ประโยชน์อย่างไร เช่น เป็นพื้นที่ป่าชุมชน หรือเข้าคณะกรรมการคทช.จัดสรรให้ชาวบ้าน กรมป่าไม้ต้องชัดเจน
ทางด้านนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ เขต 2 พรรคภูมิใจไทย คณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ปัญหาสวนปาล์มน้ำมันหมดสัมปทานในจ.ตรัง กับ จ.กระบี่ มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร นายสฤษฎ์พงษ์ กล่าวว่า สวนปาล์มก็คงจะไม่แตกต่างกันมาก แต่ว่าความเหมือนกันก็คือ ในเรื่องการหมดอายุสัมปทาน เมื่อหมดอายุสัมปทานลักษณะการควบคุมพื้นที่จะเหมือนกันคือ การเข้ามาบุกรุก หวังครอบครองต่อไป ทั้งฝ่ายชาวบ้าน และฝ่ายนายทุน จะมีการสร้างขนำหรือเพิงพักอย่างนี้ มีร่องรอยคนดูแลบริหารจัดกา เพราะว่าสวนปาล์มมีการพัฒนาและมีการตัดหญ้า ยอดปาล์มจะเห็นว่ามีคนเคียวปาล์มและอยู่ในทลายที่มีการดูแลอยู่ ไม่ได้ปล่อยทิ้งร้าง เพราะฉะนั้นภาครัฐต้องเร่งเข้ามาดูแล ก่อนที่จะมีเหตุไม่น่าจะเกิดขึ้น บานปลาย เพราะว่าใน จ.กระบี่จะมีกองกำลังเข้ามาอยู่ ซึ่งมีอาวุธมีการยิงกันทำให้คดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งของจ.กระบี่จะมีแปลงใหญ่กว่านี้เป็นหมื่นไร่ ในส่วนเจ้าหน้าที่ของป่าไม้เจ้าของพื้นที่ต้องเข้ามาดูแลแต่ว่าจะมีการต่ออายุสัญญาไหม ซึ่งก็ว่ากันไปแต่มติครม.ก็ออกมาชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ต่ออายุสัญญาในที่ดินแปลงนี้จะให้สปก.มาจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านไหม ก็ต้องเป็นนโยบาย เพราะฉะนั้นทางจังหวัดอาจจะไม่มีอำนาจหรือทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มีอำนาจในเรื่องของการที่จะมาบริหารการจัดการโดยตรง เพราะฉะนั้นคนที่มีอำนาจตั้งแต่รัฐมนตรีจะต้องมีการสั่งการลงมา แต่ว่าในพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ให้เช่าการที่จะเป็นสปก.จะต้องโอนที่ดินให้สปก.แต่เมื่อไหร่ยังไม่โอนก็ยังไม่เป็นที่สปก.แต่เมื่อโอนแล้วจะจัดสรรอย่างไรก็ต้องว่ากันไปตามระเบียบ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: