สระแก้ว – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ด่านศุลกากรคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ประชุมหารือผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับมาตรการการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนภายหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย ป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 2 พร้อมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนนำเข้าแรงงานประเทศ เพื่อฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศจากโควิด เล็งใช้พื้นที่ด่านศุลกากรอรัญประเทศแห่งใหม่ ต.ป่าไร่ เป็นสถานที่กักตัว 14 วัน แรงงานชาวกัมพูชากว่าหมื่นคน
เมื่อวันที่ 10 ก.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อประชุมหารือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ เรื่อง การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายหลังการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด และยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ห้องประชุมด่านศุลกากรคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน, นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย มีนายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว สาธารณสุขจังหวัด จัดหางานจังหวัด ตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจ หน่วยความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือเกือบ 2 ชม. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามแนวชายแดน เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ยังมีความน่าเป็นห่วงและมีความกังวล อาจจะส่งผลกระทบต่อแรงงานที่เข้ามาตามตะเข็บแนวชายแดน โดยเฉพาะอาจทำให้เกิดการระบาดในระลอก 2 ขึ้นได้
ทั้งนี้ นายสุชาติ ระบุด้วยว่า การลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เพื่อมารับฟังสภาพปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบในประเด็นต่างๆ อาทิ การเปิดตลาดโรงเกลือ การขาดแคลนแรงงานไร่อ้อย แรงงานลำไย รวมทั้งการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายหลังการผ่อนคลาย การบังคับใช้มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาด และยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะมีวิธีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาอย่างไร รวมทั้งการกำหนดสถานที่กักตัว 14 วัน การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ว่าจะมีสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ที่ใดบ้าง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะรับสมัครผู้สนใจเสนอสถานที่กักกัน (Alternative Local Quarantine : ALQ) เพื่อกักกันแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่จะเข้ามาทำงานตามระบบเอ็มโอยู ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบมาตรฐานของสถานที่ และการกำหนดวิธีการดำเนินการอย่างไรบ้าง เบื้องต้นได้ประสานกับทางตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อขอใช้สถานที่ด้วยเช่นกัน
ข่าวน่าสนใจ:
รมว.แรงงาน กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในภาคเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการทำงานในไร่อ้อย ซึ่ง นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ปีนี้แจ้งความต้องการแรงงานเพื่อมาทำงานตัดอ้อย ประมาณ 12,000 คน หากไม่สามารถหาแรงงานมาดำเนินการตัดอ้อยได้จะเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ชาวสวนลำไย ซึ่งมีพื้นที่ทำสวน ประมาณ 58,000 ไร่ ก็มีความต้องการแรงงาน ประมาณ 1,000 คนเช่นกัน แต่จะขอใช้แรงงานกัมพูชาจากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีความชำนาญในการเก็บลำไย มาเก็บลำไยในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
ส่วนการเฝ้าระวังการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์และตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวอย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังบูรพา จัดชุดตรวจ ลาดตระเวนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันมิให้แรงงานกัมพูชาลักลอบเข้ามาในประเทศ ส่วนการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว สำนักงานจัดหางานจังหวัดสระแก้วได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วในการสุ่มตรวจหาเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดทำหน้าที่คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเป็นช่างฝีมือผู้ชำนาญในสระแก้ว เพื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้งรวมแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการตรวจมากกว่า 1,000 คน ปรากฏว่าไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด
“จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา มีการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ที่ประมาณ 12,000-22,000 คน เป็นแรงงานที่นำเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู เช่น การครูสอนภาษาและแรงงานภาคเกษตร ซึ่งเป็นแรงงานจำนวนมากที่สุด แบ่งเป็น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวน 21,205 คน และในปัจจุบันเดือนกันยายน 2563 มีจำนวน 2,746 คน ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้ จะทำให้รับทราบสภาพปัญหาจากผู้ประกอบการภาคเอกชนโดยตรงเกี่ยวกับความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว รวมทั้งขั้นตอนการกักตัวและสถานที่กักตัวตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวจากโควิดโดยเร็ว” นายสุชาติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมดังกล่าวได้มีการถกเถียงและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานที่กักตัวแรงงานชาวกัมพูชาที่จะเข้ามาทำงานหลังจากนี้กว่า 10,000 คนอย่างหลากหลาย โดยที่ประชุมเสนอให้มีการใช้พื้นที่ของด่านศุลกากรอรัญประเทศแห่งใหม่ ที่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 500 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิด อยู่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา และห่างจากด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เพียง 10 กม. ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดใช้งาน มีอาคาร สถานที่ และสาธารณูปโภคพร้อมเพรียง สามารถใช้เป็นสถานที่กักตัวได้ครั้งละกว่า 2,000 คน ซึ่งที่ประชุมรับไว้พิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อดำเนินการทันทีด้วย
นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า สมาคมไร่อ้อยมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานอย่างต่ำประมาณ 12,000 คน หากเร่งพิจารณาและหาสถานที่กักตัวได้ทันเวลา โดยข้อสรุปทางกระทรวงแรงงานจะไปประสานงานกับ สบค.เพื่อจัดสถานที่กักตัวแรงงานกัมพูชาให้เรา โดยใช้งบประมาณของกองทุนแรงงานต่างด้าว ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะเรื่องนี้ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี แต่ก็เป็นสิ่งที่เกษตรกรพอยอมรับได้ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายบางตัว เราก็พยายามที่จะให้ทางราชการช่วยเราบ้าง เพราะชาวไร่อ้อยที่ผ่านมาราคาอ้อยตกต่ำ และแนวทางที่คุยกันน่าจะครอบคลุมเพราะหากเป็นสถานที่ขนาดใหญ่อย่างด่านศุลกากรแห่งใหม่ กักตัวได้ครั้งละ 2,000-3,000 คน คิด่า น่าจะพอและทันเวลา ทันฤดูกาลเก็บเกี่ยวอย่างแน่นอน
—————————–
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: