เชียงราย-ชุดปฏิบัติการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ (ภูชี้ฟ้า) ยังเดินหน้าภารกิจดูแลสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประสานงานกับหน่วยงานที่มีโครงการพัฒนาในพื้นที่ และดูแลความมั่นคงตามพื้นที่ชายแดน
“ภูชี้ฟ้า” เป็นสถานที่ชมทะเลหมอกชื่อดังของจังหวัดเชียงราย แต่น้อยคนจะรู้ว่าในอดีตพื้นที่โดยรอบภูชี้ฟ้าเคยเป็นสมรภูมิรบระหว่างทหารจากฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังคอมมิวนิสต์ ซึ่งเกิดจากความเห็นต่างทางความคิดทางการเมือง
แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายด้วยพระบารมีขององค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จเยือนดอยพญาพิภักดิ์ อ.เทิง จ.เชียงราย (ปัจจุบันแยกเป็น อ.ขุนตาล) ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2525 โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ประกาศวางอาวุธ และในหลวง ร.9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าทั้งปวง ประดิษฐานไว้บนดอยพญาพิภักดิ์ จบสงครามต่อเนื่องนานนับสิบปี หลังสงครามสงบลงรัฐบาลได้จัดสรรที่ทำกินให้ราษฎรที่ต้องการอยู่อาศัยและที่ทำกินอยู่บนพื้นที่ดังกล่าว จำนวนครอบครัวละ 15 ไร่ ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านก็ดำรงชีพด้วยการทำสวน ทำไร่เลื่อนลอย
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2536 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) ในหมู่บ้านจัดตั้งใหม่ของโครงการพัฒนาเพื่อความพื้นที่ดอยยาว ฯ ณ บ้านร่มฟ้าทอง ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงรายทรงมีพระราชดำริให้กลุ่มแม่บ้านรวมตัวกันทำผ้าปัก ผ้าทอใยกัญชง ส่งจำหน่ายในโครงการศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีรายได้หลังจากว่างเว้นจากการทำไร่ทำสวน และมีการก่อตั้งฟาร์มสาธิตการเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก เพื่อเป็นพื้นที่สาธิตการเลี้ยงสัตว์ให้กับชาวบ้าน โดยภายในฟาร์มจะมีการเลี้ยงแกะพันธุ์บอนด์ และเลี้ยงไก่พันธุ์ชี้ฟ้า พันธุ์ฟ้าหลวง และพันธุ์ประดู่หางดำ
ข่าวน่าสนใจ:
- ปป.แม่สายทานมูมมามจนลืมตัว เรียกเก็บเงินแบบไม่อาย แต่ต่อรองราคาได้
- บ้านใหญ่พรรคเพื่อไทยเชียงราย เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.พร้อมกับนำทีมผู้สมัคร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
- มทบ.32 เสริมกำลังเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5
- เปิดบริการแล้ว MFU Wellness Center มฟล. ศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ในส่วนของการทอผ้า ทางหน่วยทหารที่รับผิดชอบโครงการได้เลือกพื้นที่บ้านร่มฟ้าทอง ม.18 ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และบ้านพิทักษ์ไทย ม.20 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ให้เป็นที่ตั้งโรงทอผ้า
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณารับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทรงมอบให้กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานของโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ อยู่ในการดูแลของค่ายขุนเจืองธรรมิกราช มทบ.34 จ.พะเยา ซึ่งมี พล.ต.จรัส ปัญญาดี เป็น ผบ.มทบ.34 และมี พ.ต.อนุชิต มานะสมบูรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ (กอ.คดร.ดอยยาวฯ) มีกองอำนวยการตั้งอยู่ที่บ้านร่มฟ้าไทย ม.24 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ทำหน้าที่ประสานงานการดำเนินโครงการต่างๆ ในพื้นที่โครงการฯ ให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์
พ.ต.อนุชิต เผยว่า ชุดปฏิบัติการของตนมีพื้นที่ในความดูแลครอบคลุม 2 จังหวัด คือ อ.เทิง เวียงแก่น ขุนตาล เชียงของ จ.เชียงราย และ อ.ภูซาง เชียงคำ และ อ.ปง จ.พะเยา มีหน้าที่ดูแลติดตามและอำนวยความสะดวกให้สมาชิกในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และดูแลความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน เนื่องด้วยโครงการศูนย์ศิลปาชีพจะไม่มีการรับสมาชิกเพิ่มเติม จึงทำให้ผู้ร่วมโครงการลดจำนวนลงเรื่อยๆ ประกอบกับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่หันไปใช้เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม่ได้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ที่เหลือก็จะเป็นผู้สูงอายุ ถึงแม้จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการจะเหลือไม่มาก แต่บทบาทของทหารชุดประสานงานโครงการพระราชดำริก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการพบปะสมาชิกโครงการเพื่อติดตามสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ปัญหาการทำผ้าปักผ้าทอ รวบรวมผ้าปักผ้าทอส่งไปยังโครงการศูนย์ศิลปาชีพเพื่อคัดเลือกไปวางจำหน่าย และนำเงินพระราชทานที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าส่งคืนให้สมาชิกผู้ร่วมโครงการ
ในแต่ละปีผลิตภัณฑ์ผ้าปักผ้าทอที่ส่งไปยังโครงการศูนย์ศิลปาชีพจะมีการส่งคืนมายังสมาชิกโครงการประมาณ 30% เนื่องจากชิ้นงานมีตำหนิ ไม่ผ่านการประเมิน แต่อย่างไรก็ตามในแต่ละปีสมาชิกก็ยังมีรายได้จากการส่งสินค้าไปจำหน่ายในโครงการศิลปาชีพปีละ 1-5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน ซึ่งก็ถือเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำการเกษตรที่เพียงพอกับการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากบทบาทการประสานกับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในโครงการ และคอยประสานหน่วยงานที่มีการดำเนินการโครงการต่างๆในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว ปัจจุบันกองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (มทบ.34) ยังมีบทบาทในการคุ้มครองป้องกันชุมชน มีส่วนร่วมช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆตามที่มีการร้องขอ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานทางทหารที่ทำงานใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากที่สุด
แม้บทบาทในโครงการศูนย์ศิลปาชีพจะลดลงตามจำนวนสมาชิก แต่การปกป้องคุ้มครองประชาชนที่อยู่อาศัยตามแนวชายแดนเชียงราย-พะเยา ก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: