พบชุมชนและเยาวชนร่วมกันอนุรักษ์การแสดงมโนราห์โกลน มโนราห์ที่ดัดแปลงมาจากมโนราห์จริง ทั้งการแต่งกาย ท่ารำ บทกลอน แต่เน้นมุขตลก สร้างความสนุกสนานในการแสดง ถือเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่นับวันจะสูญหายไป โดยในจังหวัดตรังเหลือเพียงคณะเดียวแล้วเท่านั้น รับงานแสดงทั่วไป โดยเฉพาะส่วนราชการมักว่าจ้างไปทำการแสดง เพื่อช่วยกันอนุรักษ์สืบสานไม่ให้สูญหายไปจากแผ่นดิน
วันที่ 18 กันยายน 2563 ที่บริเวณลานวัฒนธรรม วังหินลาด ลำธารสร้างสุข หมู่ 1 บ้านยูงงาม ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่ พบมีการจัดงานสืบสานประเพณีเดือนสิบของชาวบ้านหมู่บ้านดังกล่าว นำโดยนายเชื่อง ไชยสงคราม ผู้ใหญ่บ้าน ได้นำคณะมโนราห์โกลนชื่อคณะ “สามสลึง ตำลึงทอง” ของนายชู พรหมมี อายุ 76 ปี ชาวต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว ซึ่งเป็นคณะมโนราห์โกลนที่เหลือเพียงคณะ 1 เดียวในจังหวัดตรัง มาทำการแสดง และถือเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้ที่กำลังจะสูญหายไป เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสานถ่ายทอดสู่ประชาชนและเยาวชนคนรุ่นหลังให้รู้จักศิลปะการแสดงแขนงดังกล่าวไว้ตราบชั่วลูกหลาน โดยการแสดงมโนราห์โกลน เป็นการแสดงพื้นที่บ้านของชาวภาคใต้ที่ดัดแปลงหรือเลียนแบบมาจากการแสดงศิลปะมโนราห์จริง ทั้งการแต่งกาย ท่ารำ บทกลอน แต่เน้นมุขตลกขบขันสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ชม โดยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจะมีครบทุกประเภทเช่นเดียวกับของมโนราห์จริง ทั้งเทริด พานโครง หรือรอบอก ,บ่าซ้าย – ขวา ,ปีกหน้า -ปีกหลัง หรือหางหงส์ แต่ทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น แต่หางหงส์จะไม่สวมไว้ด้านหลัง แต่จะผูกสวมไว้กับสะเอวด้านหน้าของตัวนักแสดง การแต่งกายจะคล้ายสัตว์ต่างๆบ้าง เช่น ลิง คางคก เสือ พฤติกรรมก็จะแสดงออกคล้ายสัตว์ตัวนั้น ,เสื้อผ้า จะเป็นผ้าแปร หรือผ้าเป็นชิ้น , กางเกงที่สวมใส่เป็นประจำ หรือหาซื้อมาสวมใส่ และเครื่องแต่งกายก็เช่นเดียวกัน ทั้งลูกปัด ที่ทำจากเปลือกหอยชนิดต่าง หรือพลาสติกรูปทรงต่างๆ นำมาร้อยเป็นพวง ดินสอ หลอดกาแฟ ปากกา ไม้หนีบผ้า กระป๋องน้ำ ขวดนม เป็นต้น สามารถนำมาตกแต่งเป็นเครื่องประดับตามร่างกายได้ทั้งหมด ส่วนการแต่งหน้าจะใช้สีต่างๆทาตามใบหน้า ทาปากสีดำ หรือแต่งหน้าอย่างไรก็ได้ให้แลดูขำขัน ตามภาพที่ปรากฏ เมื่อขึ้นทำการแสดงก็ร่ายรำเลียนแบบท่ารำของมโนราห์จริง แต่จะเป็นท่ารำที่หยาบ ๆ เก้ๆ กังๆ พลิกแพลงให้เป็นท่ารำที่พิสดารออกไป แต่มือของคนรำจะไม่งอนเด้งไปข้างหน้า แต่จะคว่ำมือ (งอมือ งอนิ้ว ) เข้าหาตัว บทกลอนที่ขับก็คล้ายกับกลอนมโนราห์ อาจจะนำเครื่องราวในชุมชน หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์ที่พบเห็นเฉพาะหน้าบริเวณโดยรอบในงานมาแต่งเป็นบทกลอน ส่วนเครื่องดนตรีจะใช้เครื่องดนตรีชนิดเดียวกับมโนราห์จริง ทั้งทับหรือโทน ,กลอง ,ปี่ ,โหม่ง , ฉิ่ง ,แตระหรือแกระ แต่ลักษณะของเวทีทำการแสดง จะเปิดโล่งไม่มีฉากกั้นแบ่งพื้นที่ระหว่างเวทีด้านหน้ากับห้องแต่งตัวนักแสดง (ซึ่งโรงแสดงมโนราห์จริง จะมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ โดยใช้ผ้ากั้นระหว่างห้องแต่งตัวนักแสดง กับส่วนหน้าใช้สำหรับการแสดง และวางเครื่องดนตรี) ทั้งนี้ การแสดงดังกล่าวได้สร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ชมที่เดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กๆ จะสนใจเป็นอย่างมาก โดยผู้ชมก็จะมอบทิปให้แก่นักแสดงด้วย
ทางด้านนายปฏิภาณ พรหมมี อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนทุ่งหนองแห้งประชาสรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง กล่าวว่า รูปแบบการแต่งหน้าไม่มีอะไรมาก เน้นจินตนาการ ไม่เอาสวย แต่ให้ผู้ชมชอบ และดูตลกขบขันเท่านั้น ส่วนตัวฝึกฝนการรำมโนราห์โกลนมานานแล้วตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล 2 จนตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.5 แล้ว ส่วนเหตุที่สนใจรำมโนราห์โกลน เพราะเป็นการแสดงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ตนเองก็ถูกคุณพ่อจับมารำ มาจำความได้ก็ปรากฏว่ารำเป็นอยู่แล้ว จึงรำมาตลอด ไม่อายเพราะอยู่ในสายเลือด หลังจากนี้ก็ตั้งใจว่าจะรำต่อไป และถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของตัวเองต่อไปด้วย ไม่อยากให้สูญหาย เพราะเหลือน้อยแล้ว และเป็นศิลปะการแสดงวัฒนธรรมที่คนน้อยนักจะได้เห็น อยากให้คงอยู่คู่กับภาคใต้ตลอดไป สำหรับการไปแสดงแต่ละครั้ง หากส่วนราชการ หรือต่างจังหวัดว่าจ้างมา แล้วแต่เจ้าภาพจะให้ แต่หากเป็นงานบุญ หรืองานแสดงตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จะแสดงฟรี ไม่คิดเงิน เพื่อต้องการเผยแพร่ศิลปะการแสดงมโนราห์โกลนให้คนรุ่นหลังได้รู้จักไม่ให้สูญหายไป ทั้งในจังหวัดตรัง หรือทั่วประเทศ และทั่วโลกได้รู้จัก
เช่นเดียวกับนายภูเบศ สงพิน อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสภาราชินี 1 อ.เมือง กล่าวว่า ตนเองเพิ่งมาฝึกการรำเมื่อไม่มานานมานี้ เพราะเพื่อนชวน (นายปฏิภาณ) แต่ตนรู้จักและผูกพันกับการแสดงมโนราห์โกลนมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะเป็นคนในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้สนใจมากนัก แต่มีครั้งหนึ่งคุณครูที่โรงเรียนให้โจทย์งานมาทำ เกี่ยวกับเรื่องที่น่าสนใจภายในท้องถิ่นของตนเอง ตนเองจึงเห็นว่ามโนราห์โกลนไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ตนจึงเขียนรายงานเรื่องมโนราห์โกลนส่งครู เพื่อให้ครูและเพื่อนๆที่เมืองได้รู้จัก อยากจะถ่ายทอด ส่วนการรำมโนราห์จริง ตนเองจะรับบทเป็น “นายพราน” ทั้งนี้ จากการทำงานส่งครูดังกล่าว จึงทำให้ตนเองมีความรู้เพิ่มมากขึ้น และเห็นคุณค่าว่าเราควรจะอนุรักษ์เอาไว้ เพราะนับวันไม่มีให้ดูแล้ว จึงอยากให้คงอยู่สืบไป หลังจากนั้นก็มาฝึกหัดจริงจังและออกทำการแสดง ส่วนตัวอยากเชิญชวนให้วัยรุ่นทุกคนได้หวนนึกถึง หรือเห็นคุณค่าของการแสดงศิลปะวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเอง หากพบว่าเรื่องใดกำลังจะสูญหาย ก็ให้เข้าไปมีบทบาทมีส่วนร่วมในการสืบสานต่อยอดให้คงอยู่สืบไป ดีกว่าไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไร้สาระ
ข่าวน่าสนใจ:
ทางด้านเด็กหญิง อายุ 8 ขวบ ซึ่งเป็นน้องเล็กสุดของคณะ กล่าวว่า หัดมานานแล้ว ไม่ยาก และเคยไปทำการแสดงได้เงินกินขนมด้วยครั้งละ 500 บาท ก็ดีใจมาก เอาเงินมาสะสม
ทางด้านนายชู พรหมมี อายุ 76 ปี หัวหน้าคณะมโนราห์โกลน “สามสลึง ตำลึงทอง” กล่าวว่า เริ่มต้นทำคณะมโนราห์โกลนมาตั้งแต่ปี 2552 แต่หยุดชะงักไปสักพักหนึ่งช่วงสถานการณ์โควิด จึงมาเริ่มทำการแสดงอีกครั้ง โดยที่ผ่านมารับงานแสดงทั่วไปทั้งในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะส่วนราชการจะรับไปทำการแสดงอยู่บ่อยครั้งในงานประจำปี งานวัฒนธรรม หรืองานออกร้านต่างๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสานศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนั้นเคยไปออกงานสมโภชพิธีการสำคัญมาแล้วครั้งหนึ่งที่สนามหลวง กรุงเทพฯ แรกเริ่มที่สนใจทำการแสดงมโนราห์โกลน เริ่มจากมีคณะกลองยาวก่อน แต่เห็นว่ารำกลองยาวก็ซ้ำๆ และเหนื่อย จึงคิดเอานโนราห์โกลนมาร่วมขบวนแห่กลองยาวด้วย หลังจากนั้นก็ทำคณะ ฝึกหัดนักแสดงทั้งคนเฒ่าคนแก่ และขณะนี้ทำการถ่ายทอดสู่เยาวชน ในคณะนี้จึงมีรวมกันประมาณ 20 คน เพื่อหวังให้สืบสานต่อไปไม่ให้สูญหาย เดิมในจังหวัดตรังมีประมาณ 2-3 คณะ แต่ขณะนี้สูญหายหมดแล้วไม่มีคนรุนใหม่มาแทนที่ จึงเหลือเพียงคณะเดียว ส่วนการแสดงมโนราห์โกลนแตกต่างจากการแสดงมโนราห์จริงคือ เลียนแบบการรำมโนราห์จริง แต่มโนราห์จริงมือรำจะกรีดนิ้วงอนเด้งไปข้างหน้า แต่มโนราห์โกลนมือรำจะงอเข้าหาตัว ถือว่าเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีนิสัยร่าเริง รักการแสดงออก และสืบทอดการแสดงไม่ให้สูญหายไปจากแผ่นดิน ที่ผ่านมารับงานแสดงไปรำแสดงโชว์ทั่วทั้งในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะส่วนราชการจะนิยมว่าจ้าง ส่วนค่าจ้างแล้วแต่เจ้าภาพจะให้ขึ้นอยู่กับระยะทาง เช่น 8,000 – 9,000 บาท หรือเป็นหลักหมื่น ไปไกลสุดที่กรุงเทพฯ เจ้าภาพให้ 50,000 บาท ได้เงินมาก็จ่ายค่ารถ ค่ากินอยู่ของลุกหลานเยาวชนในวง ที่เหลือก็แบ่งให้เป็นค่าขนมแก่ทุกคน เด็กๆก็จะดีใจได้ทำการแสดงและได้เงินค่าขนมกลับบ้านด้วย
ทางด้านนายเชื่อง ไชยสงคราม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.โพรงจระเข้ กล่าวว่า ปกติมโนราห์โกลน “ สามสลึง ตำลึงทอง” ของลุงชู อยู่ที่ตำบลนาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง แต่การส่งเสริมและสืบสานอนุรักษ์การแสดงมโนราห์โกลนให้คงอยู่สืบไปนั้น ต้องอาศัยเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งใน ต.นาชุมเห็ด ,ต.โพรงจระเข้ และตำบลอื่นๆใกล้เคียง ส่วนตัวก็ได้พยายามชักชวนเด็กๆมาฝึกซ้อมเข้าร่วมวง เพื่อจะได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่ให้สูญหายไป ก็ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างมาก ทั้งเด็กเล็กและนักเรียนโต ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่รู้สึกรักและหวงแหนศิลปะการแสดงท้องถิ่นกำลังจะสูญหาย ได้สืบทอดเป็นมรดกตกทางวัฒนธรรมต่อไป ส่วนตัวก็พยายามหาเวทีให้คณะ และเด็กๆได้ทำการแสดง โดยเฉพาะเมื่อมีทัวร์นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ ก็จะเสนอให้มีการแสดงมโนราห์โกลนขึ้นที่บริเวณลานวัฒนธรรม วังหินลาด ลำธารสร้างสุข โดยพบว่าได้รับความสนจากท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: