เชียงราย-กรมปศุสัตว์ส่งเสริมเกษตรกรนำเศษวัชพืชของเหลือใช้จากการเกษตรมาสร้างมูลค่า ลดการเผา แก้ปัญหาหมอกควัน
จากปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่เป็นปัญหาใหญ่ในหลายพื้นที่ จังหวัดเชียงรายก็ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว หนึ่งในสาเหตุของปัญหาดังกล่าวก็เพราะว่าประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ผ่านมาหลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็มักจะใช้วิธีเผาไร่เผาสวน เพราะเป็นวิธีกำจัดวัชพืชและของเหลือใช้ในการเกษตรที่รวดเร็วประหยัดเวลา กรมปศุสัตว์ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงพยายามนำองค์ความรู้ในการจัดการของเหลือใช้ทางการเกษตร ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมที่จะนำเอาของเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างให้เกิดมูลค่า ลดการเผา แก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน
กรมปศุสัตว์ได้ยกเอาผลงานความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโชว์ ในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงหลายกระทรวง มาลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าของจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ณ เทศบาลตำบลแม่ยาว อ.เมืองเชียงราย โดยมีนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์พืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
จากข้อมูลเชิงสถิติพบว่า จังหวัดเชียงรายมีปริมาณสัตว์เคี้ยวเอื้องที่ใช้อาหารหยาบ เช่น ฟางข้าว เปลือกใบข้าวโพด รวมจำนวน 65,865 ตัว (โคเนื้อ 43,398 ตัว/โคนม 4,815 ตัว/กระบือ 14,684 ตัว/แพะ2,720 ตัว/แกะ 239 ตัว ) ในขณะที่มีปริมาณพื้นที่ปลูกข้าว 1.3 ล้านไร่ ในการทำนา 1 ไร่ มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 500 กก./ไร่ ได้แก่ ตอชังและฟางข้าว รวมปริมาณวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประมาณ 650,000 ตัน
ข่าวน่าสนใจ:
ปริมาณพื้นที่ปลูกข้าวโพดในจังหวัดเชียงราข จำนวน 300,000 ไร่ มีวัศดุเหลือใช้ทางการเกษตรประมาณ 700 กก./ไร่ ลำต้น ใบ เปลือก ซังข้าวโพด รวมปริมาณวัสดุเหลือใช้จากการปลูกข้าวโพดประมาณ 210,000 ตัน
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เป็นหน่วยงานที่เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายที่ทำนาข้าว หรือปลูกข้าวโพดอยู่แล้วหรือเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคนม กระบือ แพะแกะ ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยเข้าไปบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นฟางข้าว ที่ได้หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ใบเปลือกซังข้าวโพด สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นทดแทนการเผาทิ้ง สร้างมลพิษทางอากาศ ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สามารถเข้าไปบริหารจัดการดังนี้
1.อัดก้อนเก็บไว้เป็นเสบียงอาหารสัตว์ หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ ซึ่งการอัดไว้ทำให้ได้ปริมาณที่มาก และการเก็บรักษาเป็นระเบียบสามารถเก็บไว้ได้จำนวนมาก สะดวกในการขนส่ง 2.การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำมาเป็นอาหารหยาบสำหรับสัตว์ 3.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารผสมครบส่วนที่รวมทั้งอาหารหยาบ อาหารข้น และอาหารเสริมแร่ธาตุ เข้าด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสม เรียกว่า อาหารผสมรวมหรืออาหารผสมเสร็จ หรืออาหารทีเอ็มอาร์ (TMR : Total Mixed Ration) โดยมีโภชนะอาหารต่าง ๆ ครบตามความต้องการของสัตว์
ปศุสัตว์จังหวัดเชียงรายได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเครื่องอัดฟาง จากยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงรายและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จำนวนทั้งสิ้น 17 เครื่อง (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2562) และ ในปี พ.ศ. 2563 จังหวัดเชียงรายอัดฟางและเปลือกข้าวโพดได้ทั้งหมด จำนวน 2,176,000 ก้อน คิดเป็น 43,520 ตัน สามารถลดการเผาได้ประมาณ 87,040 ไร่ และในปืงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้รับการจัดสรรให้ซื้อเครื่องอัดฟาง จากโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าเพิ่มอีก 5 เครื่อง คาดว่าจะสามารถดำเนินการลดพื้นที่การเผาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 25,000 ไร่
จังหวัดเชียงรายได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมอาหาร TMR ขนาด 5 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 เครื่อง จากงบยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงราย ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อคุณภาพ จำนวน 3 เครื่อง และจากงบกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จำนวน 1 เครื่อง สามารถลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเครื่องผสมอาหารสัตว์ TMR ตั้งอยู่ที่ ปศุสัตว์อำเภอเมืองเชียงราย 2 เครื่อง ปศุสัตว์อำเภอพาน 1 เครื่อง และปศุสัตว์อำเภอเวียงแก่นอีก 1 เครื่อง
นี่เป็นเพียงหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนกลยุทธ์ในการลดปัญหาหมอกควันไฟป่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ได้เข้ามามีบทบาทในด้านนี้ ซึ่งหากมีโอกาสผู้สื่อข่าวจะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อๆไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: