กรุงเทพฯ – สช. สานพลังภาคียุทธศาสตร์สุขภาพ-สังคม คิ๊กออฟ ‘ธรรมนูญสุขภาพ กทม.’ เดินหน้าสร้างกติกาชุมชนภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วม หวังแก้ปัญหาตามบริบทของพื้นที่ที่มีความแตกต่าง เริ่มนำร่องใน 13 เขต เพื่อกรุยทางสู่เมืองสุขภาวะ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน (พอช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ จัดเวที KICK OFF ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต พื้นที่กรุงเทพมหานคร “รู้ เริ่ม ร่วม สานพลังสร้างสรรค์นโยบายเพื่อสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมของคนกรุงเทพมหานคร 12+1 เขตนำร่อง” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563
‘ธรรมนูญสุขภาพ’ หรือกติกาชุมชน หรือข้อตกลงร่วมกันของคนในพื้นที่ เป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่นำไปใช้แก้ไขปัญหาและคลี่คลายความขัดแย้งด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับเขตในพื้นที่ กทม. เริ่มนำร่องใน 13 เขต ประกอบด้วย ดินแดง วังทองหลาง บางคอแหลม สายไหม ดอนเมือง ลาดพร้าว บึงกุ่ม ลาดกระบัง ธนบุรี คลองสาน บางบอน ทุ่งครุ และทวีวัฒนานพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่คงไม่สามารถให้คนอื่นตัดสินใจแทนได้ คนในพื้นที่ต้องร่วมกันตัดสิน ซึ่งกระบวนการแสวงหาฉันทามติบนพื้นฐานของข้อมูลและวิชาการจะช่วยเปลี่ยนเรื่องของปัจเจกให้กลายมาเป็นพลังชุมชน ธรรมนูญสุขภาพถือเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดกรอบกติกาหรือสัญญาใจที่นำไปสู่แนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ เช่น บางพื้นที่พูดถึงเรื่องหาบเร่แผงลอยก็อาจมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะ หากมีการละเมิดข้อตกลงก็อาจมีบทลงโทษทางสังคมที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน
นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แม้ว่า กทม.จะมีแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ที่มุ่งไปสู่การเป็นมหานครแห่งเอเชีย และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตลอดจนแผนต่างๆ ระดับโลกที่ต้องการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้น แต่ด้วยความสลับซับซ้อนของ กทม.ทำให้การพัฒนาในมิติต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วม เพราะโจทย์ของคน กทม.ไม่เหมือนกัน บางโจทย์อาจขัดแย้งกัน ดังนั้นเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าจึงจำเป็นต้องหาจุดร่วมอะไรบางอย่างร่วมกัน
ด้าน นพ.ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กทม. มีกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) ตั้งแต่ปี 2561 แต่อาจยังไม่มีทิศทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจน เช่นเดียวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. ที่มีงบค้างท่ออยู่กว่า 1,600 ล้านบาท ฉะนั้นการเกิดขึ้นของธรรมนูญสุขภาพระดับเขตในครั้งนี้จะเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ช่วยกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนา และการใช้งบประมาณเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ตรงตามปัญหาและความต้องการในระดับพื้นที่
ข่าวน่าสนใจ:
- นายกฯ พบปะนักเรียนจากทั่วอีสาน ชูโครงการ "หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน" เพิ่มโอกาสชีวิต
- คู่แข่งนอกสายตานายก ก้อย “พนธ์ มรุชพงษ์สาธร” ขอวัดดีกรีว่าที่นายก อบจ.แปดริ้ว
- นนทบุรี กระบะเลี้ยวตัดหน้า จยย.พุ่งชน ร่างหนุ่มชาวลาวลอยก่อนตกกระแทกพื้นดับ
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราภัฏธนบุรี กล่าวว่า กทม.อาจช่วยคัดเลือกชุมชนที่พร้อมเริ่มต้นจัดทำธรรมนูญสุขภาพและช่วยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการมีธรรมนูญสุขภาพระดับเขต ส่วนกระบวนการจัดทำอาจเริ่มตั้งแต่การพูดคุยกับชุมชนหรือผู้นำชุมชน ศึกษาปัญหาของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน อาจมีการสร้างนักวิจัยชุมชนโดยชุมชนขึ้นมาทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงนำบทเรียนหรือผลลัพธ์จากการจัดทำธรรมนูญสุขภาพในจังหวัดต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นข้อคิด หรือเป็นโมเดลตัวอย่างในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ กทม. “ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏมีภารกิจจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีการลงพื้นที่และใช้พื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษา สนับสนุนการสร้างการกระบวนการการมีส่วนร่วมในลักษณะที่ชุมชนต้องการเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนั้นในฐานะสถาบันการศึกษา เราจะช่วยแสวงหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ชุมชนต้องการ อะไรที่เป็นปัญหา แล้วจึงกลับมาจัดทำแผนร่วมกัน”
ส่วน พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนัก 7 สสส. ระบุว่า การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ กทม. ควรเริ่มต้นจากการคิดที่เป็นระบบด้วยข้อมูลและองค์ความรู้ มองว่าปัญหาคืออะไร เกิดจากอะไร และมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยกระบวนการนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้วยชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สสส. ที่ต้องการสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี และชุมชนดี ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกคน ดังนั้น สสส.จึงพร้อมช่วยเหลือการทำงานในระดับพื้นที่ด้วยทรัพยากรที่มี อาทิ ข้อมูล สื่อการเรียนรู้ งบประมาณ
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ภารกิจของ พอช. คือการสนับสนุนความเข้มแข็งของภาคประชาชนด้วยความเชื่อมั่นในพลังท้องถิ่นที่จะจัดการตนเอง ซึ่ง พอช.จะร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีชุมชนเป็นแกนหลัก ซึ่งตรงกับหลักการสำคัญของธรรมนูญสุขภาพที่คนในชุมชนจะเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา ฉะนั้นการนำร่องในพื้นที่ กทม.ครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของการมีส่วนร่วมและกำหนดทิศทางเมืองจัดการตนเอง
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สปสช. ได้ผลักดันให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามบริบทของพื้นที่ด้วยงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่มีอยู่มากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ก็พบว่าในหลายพื้นที่ไม่มีการขยับตัวสักเท่าใด จนกระทั่งมีการนำเครื่องมือธรรมนูญสุขภาพชุมชนเข้าไปสนับสนุนกระบวนการการทำงาน จึงเกิดการเห็นพ้องต้องการ เห็นปัญหาร่วมกัน และนำงบประมาณจาก กปท.ไปใช้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะมีธรรมนูญสุขภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ กทม.
ขณะที่ นางนิศานาถ รัตนนาคินทร์ ผู้แทนภาคประชาชน กทม. กล่าวว่า นอกจากการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตามมิติของพื้นที่แล้ว ยังสามารถจัดทำธรรมนูญตามโจทย์หรือประเด็นปัญหาร่วมของผู้คนได้ด้วย ซึ่งใน กทม.มีปัญหาอยู่จำนวนมาก เช่น ปัญหาการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา การพัฒนาพื้นที่มักกะสัน รวมถึงเรื่องอากาศสะอาดที่สัมพันธ์โดยตรงกับชีวิตและเป็นต้นทางของความเหลื่อมล้ำระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาต้องลงไปถึงโครงสร้างที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ และสิ่งสำคัญในการจัดทำธรรมนูญก็คือต้องคุยภาษาเดียวกัน และมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน
การจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับเขตในครั้งนี้ สช.จะทำหน้าที่เชื่อมประสานภาคีเครือข่าย สนับสนุนความรู้ในการพัฒนาและขับเคลื่อน สสส.จะสนับสนุนการขับเคลื่อนพร้อมชุดความรู้ที่สามารถนำไปเผยแพร่ เป็นแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่นำร่อง สปสช.จะสนับสนุนข้อมูลทางสุขภาพของประชาชน เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อพฤติกรรมสุขภาพ รวมถึงสนับสนุนการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
กทม.จะสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในเขตพื้นที่นำร่อง กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และประมวลข้อเสนอจากทุกภาคส่วน เพื่อยกร่างธรรมนูญสุขภาพที่ใช้เป็นกรอบแนวทางร่วมกัน พอช.จะสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชนในเขตพื้นที่นำร่อง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่ง จะสนับสนุนงานวิชาการโดยการนำข้อมูล มาประมวลสังเคราะห์ และนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจสภาพปัญหาพื้นที่ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: