ปราจีนบุรี – องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามการสนองพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง จ.ปราจีนบุรี
เมื่อวันที่ 26 ต.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะฯ เดินทางไปยังพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมี นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยนายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี คณะผู้บริหารเข้าร่วมประชุมและ นายวิเชียร เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา กล่าวรายงาน การบริหารจัดการน้ำตามพระราชดำริ ร.9
ในการนี้ องคมนตรีและคณะฯ รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จากรองเลขาธิการ กปร.จากนั้น กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก และสรุปการดำเนินงานสนองพระราชดำริ ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี รวมถึงสรุปความก้าวหน้า การดำเนินงาน และผลสัมฤทธิ์ของโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอาชีพ ซึ่งอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 ให้พัฒนาต้นน้ำลำธารปราจีนบุรี โดยให้พิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง หรืออ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ในปัจจุบัน เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรสำหรับทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี
ข่าวน่าสนใจ:
อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา สำนักงาน กปร. กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสนองพระราชดำริ โดยดำเนินการเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูงประมาณ 33 เมตร ความยาวประมาณ 3,970 เมตร พร้อมทำนบดินปิดช่องเขาต่ำจำนวน 2 แห่ง และระบบส่งน้ำระบายน้ำ ปริมาณความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 111,300 ไร่ เริ่มเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 228 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 77.31 ของความจุเก็บกัก ข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563 เมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาแล้วเสร็จ ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ไม่เกิดน้ำท่วมอีกเลย อีกทั้งช่วยฟื้นฟู รักษาระบบนิเวศน์ของสภาพป่าและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำและบริเวณโดยรอบ เกษตรกรมีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และทำเกษตรกรรม และสามารถทำการประมงสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากนั้นองคมนตรี และคณะ ได้ร่วมกันปล่อยปลาที่บริเวณสันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและเป็นแหล่งทำกินที่มั่นคงให้แก่ประชาชนตลอดไป
—————————
ข่าว-ภาพโดย/ลักขณา สีนายกอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: