พระนครศรีอยุธยา-สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกรุงเก่าร่วมกับอำเภอมหาราชและท้องถิ่นจัดกิจกรรมตกปลาพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น ระลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ
ทุ่งมหาราช อ.มหาราช จ.พระนคร ศรีอยุธยา ทุ่งรับน้ำที่มีพื้นที่มากกว่า 65,000 ไร่ ติดกับ จ.อ่างทอง และลพบุรี รับน้ำจากเจ้าพระยาและลพบุรี ด้วยความกว้างใหญ่ จนได้รับการกล่าวขานเป็น ทะเลมหาราช และยังเป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการจัดการพื้นที่ราบลุ่มต่ำ เพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในอนาคต ในปัจจุบันทุ่งมหาราช ยังเป็นแหล่งประมงสำคัญ ตามโครงการปล่อยน้ำเข้านาปล่อยปลาเข้าทุ่ง ในทะเลมหาราชแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาเบญจพันธ์นานาชนิด เช่นปลาชะโด ปลากระแห ปลาตะเพียน ปลาช่อน และปลานานาชนิด ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการจับปลาในทะเลมหาราชแห่งนี้ ออกสู่ตลาดในรูปแบบของการแปรรูปปลาหลากหลาย
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำแห่งนี้ อำเภอมหาราชและเทศบาลตำบลมหาราช เทศบาลตำบลโรงช้าง อบต.บ้านขวาง อบต.บ้านใหม่ พร้อมท้องถิ่นข้างเคียง ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทสม.พระนครศรีอยุธยา จึงได้จัดงาน”ฟื้นทะเลมหาราช สู่วิถีท่องเที่ยวท้องถิ่น” ทั้งนี้อำเภอมหาราช ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จประพาสยังวัดท่าตอ วัดกุฎีทอง โดยเฉพาะทะเลมหาราช ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี สู่การช่วยเหลือและพัฒนาแหล่งการเกษตรในเวลาต่อมา
นางสรัลพัชร ประโมทะกะ รองผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่าอำเภอมหาราช เป็นอำเภอหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติสัตว์น้ำ มีแม่น้ำลพบุรีไหลผ่าน และยังมีพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ทุ่งมหาราช หรือทะเลมหาราช และเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือยนต์พระที่นั่ง ไปยัง อ.มหาราช วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2507 ซึ่งในครั้งนั้นพสกนิกร ชาวมหาราช ได้นำเรือจำนวนมาก ร่วมรับเสด็จ 3 ครั้ง และยังคงระลึกถึงจากคำบอกเล่าสู่ลูกหลาน ชาวมหาราช เรือพระที่นั่ง เข้าสู่ ทะเลมหาราช แหล่งเพาะพันธ์ปลาใหญ่ที่สุดของประเทศ ส่งผลให้ชาวมหาราช ได้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ปลาน้ำจืด จำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ มาจนถึงปัจจุบัน
และเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ถึงประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของคนมหาราช คือทะเลมหาราช แหล่งเพาะพันธ์ปลา ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้หารือกับนายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย เลขานุการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดฯ เทศบาลทั้งสามแห่ง ชลประทาน พัฒนาชุมชน และตำรวจ รวมทั้งอบต.ร่วมกันจัดให้มีการแข่งขันตกปลาในวันที่ 14 พ.ย.63 ตั้งแต่ช่วงเช้าโดยจะมีเรือพื้นบ้านจำนวน 150-200 ลำ เพื่อให้ผู้ร่วมการแข่งขัน ใช้พายไปหาพื้นที่ว่างในทะเลมหาราช และได้ใช้ฝีมือ เทคนิคของเหยื่ออาหารปลา และประสบการณ์ ในการตกปลาตามที่กำหนด โดยมีกติกา ตกได้แล้วมีเจ้าหน้าที่ไปชั่งน้ำหนัก วัดขนาด ถ่ายภาพ และปล่อยปลาคืนสู่ธรรมชาติ จะไม่นำปลาขึ้นฝั่ง โดยจำกำหนดระยะเวลา 3 ชั่วโมงเท่านั้น
ด้านนางอมรรัตน์ กรึงไกร นายอำเภอมหาราช กล่าวว่าการจัดการแข่งขันตกปลาครั้งนี้นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์การท้องถิ่นสู่ท้องถิ่นตามนโยบายของนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น ซึ่งจะมีคนในพื้นที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้มาร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 1,200 คน ซึ่งการจัดกิจกรรมยังคงมีมาตรการตรวจคัดกรองโควิด-19 การเดินทางจากตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 30 ก.ม.เศษเท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้ยังมีพุทธอุทยานหลวงปู่ทวดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอด้วย
นายสิงห์ชัย เรืองขจร กำนัน ต.พิตเพียน อ.มหาราช กล่าวว่าความอุดมสมบูรณ์ของทะเลมหาราช ทำให้เป็นที่สนใจของนักตกปลา แวะเวียนมาตกปลาอยู่เป็นประจำ ซึ่งสภาพภูมิประเทศมีความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์อย่างมาก ในทุกวันเกษตรกร และประชาชนยังอาศัยทะเลมหาราชแห่งนี้ในการทำมาหากินอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าว จะทำให้ทะเลมหาราชเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: