โรงงาน และสหกรณ์แปรรูปยางพารา หยุดดำเนินกิจการปล่อยทิ้งร้างแล้วจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากราคายางตกต่ำก่อนหน้านี้ และปัญหาขาดแคลนแรงงานจากสถานการณ์โควิด ทำสูญเสียโอกาสพลิกฟื้นในช่วงนี้ที่ราคาดีกว่า
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมยางตรัง จำกัด พาไปดูสภาพโรงงานยางแผ่นรมควันของสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมยางตรัง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 1 ต.กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง ที่ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างทรุดโทรมมานานแล้วเกือบ 1 ปี สาเหตุเพราะหยุดดำเนินกิจการนับตั้งแต่ต้องประสบกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ที่ขณะนั้นราคาน้ำยางสดสูงกว่าราคายางแผ่นรมควัน ทำให้ต้องประสบภาวะขาดทุน และประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจากสถานการณ์โควิด
นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมยางตรัง จำกัด กล่าวว่า โรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควันในจังหวัดตรัง มีรวมกว่า 200 โรง แบ่งเป็นรูปแบบสหกรณ์กว่า 40 โรง และของเอกชนอีกกว่า 100 โรง เดิมส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก รองลงมาเป็นคนงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่นับจากต้นปี 2563 เป็นต้นมา เกิดจากราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่อง โดยราคาน้ำยางสดกับราคายางแผ่นรมควันราคาใกล้เคียงกันมาก และบางช่วงคือ เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 ราคาน้ำยางสดสูงกว่าราคายางแผ่นรมควัน ทำให้หลายโรงขาดทุนอย่างหนัก ประกอบกับมาเกิดสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาด แรงงานต่างด้าว และแรงงานต่างถิ่น ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา จนถึงขณะนี้แรงงานต่างด้าว ยังไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศได้ เพราะต้องถูกกักตัว แรงงานต่างถิ่นก็ไม่มี รวมทั้งแรงงานในพื้นที่ก็ไม่มีใครสนใจทำงานนี้ ทำให้โรงงานยางแผ่นรมควันทั้งของเอกชน และของสหกรณ์ต้องหยุดดำเนินกิจการไปกว่า 100 โรง รวมทั้งของสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมยางตรัง จำกัด เองด้วย โดยโรงงานหรือสหกรณ์ที่ยังพอดำเนินกิจการอยู่บ้าง มีไม่ถึง 50% ขณะที่บางแห่งให้แรงงานในพื้นที่หรือกรรมการสหกรณ์ช่วยกันทำเอง และได้ไม่เต็มกำลังการผลิต ทำให้ยางแผ่นรมควันทั้งประเทศในปีนี้จะน้อยลง และน้ำยางสดจากสวนก็ลดน้อย เพราะแรงงานกรีดยางสวนใหญ่ก็เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งขาดหายไปเช่นเดียวกัน และปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโรงรมยางทั้งประเทศซึ่งมีรวมกันกว่า 1,000 โรง แต่ขณะนี้ยังคงทำอยู่ไม่เกิน 600 โรง ปัญหาดังกล่าวทำให้กำลังการผลิตน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันในประเทศหายไปประมาณ 50 % โดยในจังหวัดตรัง จากจำนวนกว่า 200 โรง เดิมผลิตยางแผ่นรมควันได้ประมาณวันละ 500 ตัน แต่ขณะนี้เหลือประมาณ 100 โรง ปีนี้คาดว่าจะได้ยางแผ่นรมควันเข้าระบบประมาณวันละ 200 ตันเท่านั้น ส่วนทั้งประเทศเดิมผลผลิตยางทั้งระบบประมาณปีละ จำนวน 4.8 ล้านตัน (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ) แต่ปีนี้จะเหลือไม่เกิน 3.3 ล้านตัน
นายถนอมเกียรติ กล่าวอีกว่า มาถึงเวลานี้ราคายางแผ่นรมควันดีขึ้นกว่าเก่า แต่ก็ยังไม่มีแรงงาน จึงต้องทิ้งร้างต่อไป เชื่อว่าปีนี้คงไม่ได้ทำ และมาถึงช่วงที่ราคายางขยับจากกิโลกรัมละ 40 กว่าบาท ขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาท โรงรมที่ไม่ได้ผลิต ทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจมหาศาล ต้องปรับเปลี่ยนไปขายน้ำยางสดแทน และ ณ วันนี้ราคายางก็เป็นช่วงขาลงอีก แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่นานราคาคงปรับตัวกลับขึ้น เพราะยางในระบบมีน้อย ส่วนแรงงานที่ขาดแคลนหนักในภาคเกษตรทั้งระบบขณะนี้ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือนำแรงงานต่างประเทศกลับเข้ามาภาคเกษตร โดยเฉพาะโรงรมยางสามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขได้ เพราะแรงงานที่เข้ามาสามารถกักตัวในโรงรมนั้นๆ ได้เลย จะไม่กระทบกับคนอื่นๆ อย่างแน่นอน และร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขเฝ้าระวังได้ไม่ยาก สำหรับโรงรมยางของสหกรณ์ฯเอง หากจะต้องซ่อมแซมคาดว่าต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท
เช่นเดียวกับนายสุนันท์ คิดรอบ ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านไชยภักดี ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ กล่าวว่า โรงรมยางของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านไชยภักดี ก็หยุดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ต้นปีเช่นเดียวกัน สาเหตุเพราะราคาน้ำยางสดขณะนั้นสูงราคายางแผ่นรมควัน และสถานการณ์โควิด ทำให้ขาดแคลนแรงงาน เพราะส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้จึงต้องขายเป็นน้ำยางสดแทน ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะพลิกฟื้นสหกรณ์ที่ประสบภาวะขาดทุนเช่นเดียวกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: