นครพนม – เกษตรกรนครพนม จับมือ เทศบาลเมืองนครพนม พัฒนากลุ่มเกษตรกรปลูกผักริมน้ำโขง สู่การผลิตพืชผักได้มาตรฐาน (GAP)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องด้วยตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ที่มีดินตะกอนอุดมสมบูรณ์ อันเกิดจากการทับถมของตะกอนดินที่พัดพามากับสายน้ำโขงในช่วงของฤดูน้ำหลาก ทำให้เกิดเป็นชั้นตะกอนดินที่หนา มีลักษณะเป็นหาดทอดตามแนวยาวของสันเขื่อนริมฝั่งแม่น้ำ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชผักอายุสั้น จึงมีเกษตรกรในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ได้รวมตัวกันปลูกพืชอายุสั้นไว้เพื่อบริโภคและเพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง มะละกอ ผักกาดหอม (ผักสลัด) พริก ถั่วฝักยาว และมะเขือเทศ เป็นต้น โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร ในช่วงฤดูหนาวบริเวณหน้าวัดพระธาตุนคร มีกลุ่มเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชผักหมุนเวียน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และมีพื้นที่ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรมากขึ้น ที่สำคัญเป็นผักปลอดสารพิษ 100 %
ข่าวน่าสนใจ:
- ชาวบ้านผวา พบเสือ 3 แม่ลูก ป้วนเปี้ยนในป่า 100 ไร่ใกล้ฟาร์มเลี้ยงวัว ไม่กล้าเกี่ยวข้าว-กรีดยาง วอนบุกพิสูจน์
- หลวงพี่ขับเก๋งชนราวสะพาน เผยเดินทางดูแลโยมแม่ ชาวบ้านวอนหยุดดราม่า-ตรวจสอบความจริง
- นครพนม ทหารพรานสนธิกำลังยึดยาบ้าเกือบ 2 แสนเม็ด! ตรวจพบฝิ่นดิบกว่า 3 กิโลกรัม ริมแม่น้ำโขง
- บุกพิสูจน์ หลังชาวบ้าน พบเสือ หนุ่ม 27 ถ่ายคลิปเสือขณะกรีดยาง
นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้บูรณาการร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ในการพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม ให้สามารถปลูกพืชผักที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยดำเนินการภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ในกิจกรรมการอบรมถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชผักตามมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ดีเหมาะสม (GAP) ซึ่งนับว่าเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีความห่วงใยสุขภาพ และให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้ มีเกษตรกรให้ความสนใจและเข้าร่วมจำนวน 80 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนม และการจัดอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในการผลิตสินค้าเกษตรตามระบบมาตรฐาน (GAP) และเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกพืชที่ปลอดภัย มีการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมให้คำแนะนำและตรวจประเมินแปลงในเบื้องต้น เพื่อเป็นการรับรองกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานก่อนการจำหน่ายผลผลิตไปสู่ผู้บริโภค
การผลิตพืชเพื่อให้ได้การรับรอง GAP มีข้อกำหนด 8 ประการ ดังนี้
1. น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต ต้องมาจากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน 2. พื้นที่ปลูก ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุอันตราย หรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต 3. วัตถุอันตรายทางการเกษตร จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ให้มิดชิดและใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร 4. การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว มีแผนควบคุมการผลิต 5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุเหมาะสมผลผลิตมีคุณภาพ 6. การพักผลผลิต การขนย้ายในแปลงปลูกและการเก็บรักษาผลผลิต 7. สุขลักษณะส่วนบุคคล ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าในสุขลักษณะส่วนบุคคล 8. การบันทึกข้อมูลและการตามสอบ มีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงาน
สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรให้สามารถผลิตพืชได้อย่างปลอดภัย เกษตรกรจะต้องมีองค์ความรู้และศึกษาจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชแบบปลอดภัย เพื่อให้เกิดความมั่นคงเกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกันขาย ในรูปแบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งจะทำให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความเข้มแข็งและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: