นครพนม – เกษตรนครพนม สตาร์ทโครงการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังฤดูเก็บเกี่ยว หวังเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้น
ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เพื่อเป็นการดำเนินงานและขับเคลื่อน การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีแปลงเรียนรู้ ในด้านการเพาะปลูก ไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการสร้างความเข้มแข็งด้านการตลาด
ข่าวน่าสนใจ:
โดยมีการสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการที่สำคัญ ได้แก่ ความรู้ด้านเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เช่น สถานการณ์การผลิต/ด้านการตลาด การปรับปรุงบำรุงดิน โรค แมลงศัตรูพืชที่สำคัญ วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว และการจัดทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น
พร้อมจัดให้มีการเรียนรู้ผ่านแปลงเรียนรู้ต้นแบบ โดยจัดทำแปลงสาธิต การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอนาแก,วังยาง,นาหว้า และอำเภอเมืองฯ ซึ่งแปลงเรียนรู้ต้นแบบจะมีขนาดพื้นที่ จำนวน 3 ไร่ ในแต่ละแปลงต้นแบบจะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยชีวภาพ (พีจีพีอาร์) ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี และเมล็ดพันธ์ ตามงบประมาณที่มีการจัดสรรให้ดำเนินการในแต่ละแปลงต้นแบบ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่
สำหรับเกษตรกรที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ จะต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมมากหรือปานกลาง ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำตลอดฤดูกาลผลิต จะเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 ราย โดยในขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมได้แจ้งให้สำนักงานเกษตรอำเภอ ประชาสัมพันธ์ พร้อมเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม โทร 042 – 514002 หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน
“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกที่สูงอีกประเภทหนึ่งของการอุตสาหกรรมการเกษตร ปัจจุบันพบว่าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทั้งๆที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ยังมีความต้องการผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ในประมาณที่มาก เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าพืชวัตถุดิบอื่นซึ่งเป็นวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และความมั่นคงในอาชีพการเกษตรมากยิ่งขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาการผลิตในภาคการเกษตร ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริม 2 ประเด็น คือ การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ไม่เหมาะสม และเพิ่มพื้นที่ปลูกทดแทนในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เพื่อให้มีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงพอกับความต้องการ เกิดการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดจากสัดส่วน 72 : 23 : 5 เป็น 30 : 20 : 50 นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณการผลิตข้าว ซึ่งมีปัญหาด้านผลผลิตที่เกินความต้องการ ตามมาตรการการลดรอบการปลูกข้าวเพื่อปลูกพืชหมุนเวียนสร้างรายได้ทดแทน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: