อุบลราชธานี-ชาวบ้านชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูล ร่วมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการจัดการน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีอย่างยั่งยืน
สืบเนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่รับน้ำจากแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี จึงมีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและชุมชนที่ได้ผลกระทบจากน้ำท่วม ได้สร้างร่วมมือภายใต้โครงการวิจัย “การศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบอุทกภัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสู่ความสามารถในการรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในจังหวัดอุบลราชธานี”
พบว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ไม่ได้มีการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะการเยียวยาไม่ครอบคลุมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อให้การจัดการน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีเป็นไปอย่างมีส่วนร่วม เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน จึงขอเสนอแนวทางการจัดการน้ำท่วมเพื่อเป็นนโยบายและบรรจุในแผนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้
1.ผลักดันให้เกิดการแก้ไข้กฎหมายหรือระเบียบ ด้านการช่วยเหลือฉุกเฉินและเยียวยา ที่ครอบคลุมความเสียหายและความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
ข่าวน่าสนใจ:
2.ผลักดันให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองต้นแบบในการจัดการน้ำท่วมอย่างมีส่วนร่วม บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่รอบด้าน โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
3.กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการผังเมืองที่คำนึงถึงชุมชนที่มีความเสี่ยงในการเผชิญภัยน้ำท่วม รวมถึงซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมที่ได้รับความเสียหายให้ใช้งานได้โดยเร็ว
4.ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการน้ำท่วมโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยการ
4.1 จัดตั้งกรรมการเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติโดย โดยให้ชาวบ้านรวมชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในอำเภอวารินชำราบจำนวน 14 ชุมชน และชุมชนอำเภอเมืองจำนวน 38 ชุมชน ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดการปัญหาน้ำท่วม และส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกรรมการในระดับชุมชน รวมถึงจัดอบรมป้องกันภัยให้ชุมชนพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในทุกปี
4.2 จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังน้ำท่วม โดยสนับสนุนอุปกรณ์และเรือเพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที และเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในระหว่างเผชิญเหตุ
4.3 พัฒนาจุดเตือนภัยในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนให้ครอบคลุม มีจุดวัดระดับน้ำที่เข้าใจง่าย เช่น 1 หมู่บ้าน 1 ระบบเตือนภัย โดยคำนึงถึงบริบทสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่
4.4 ส่งเสริมและสนับสนุนการตั้งกองทุนภัยพิบัติเพื่อช่วยระดมทุนทำเรือ ทำแพ และให้มีงบสนับสนุนอาสาสมัครชุมชน
4.5 พัฒนาและวางระบบบริหารจุดอพยพให้มีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และทั่วถึง เมื่อเกิดเหตุควรจัดการโซนเลี้ยงสัตว์ห่างจากจุดอพยพของผู้ประสบภัยน้ำท่วม จัดโซนอพยพในแต่ละชุมชนตามข้อเสนอของชาวบ้าน และเตรียมอุปกรณ์อพยพให้พร้อม
4.6 ในระหว่างเผชิญเหตุน้ำท่วม ส่งเสริมการตั้งครัวกลางในระดับชุมชน และมีการสนับสนุนเครื่องครัว เช่น หม้อ เตาแก๊ส และงบประมาณในการซื้อสิ่งของทำอาหาร เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับอาหารที่สุขใหม่ ถูกสุขอนามัย นอกจากนี้ การทำอาหารยังทำให้ชุมชนมีปฏิสัมพันธ์และช่วยลดความเครียดในระหว่างประสบภัย
4.7 จัดให้มีงบช่วยเหลือฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมครัวเรือนละ 10,000 บาท เพื่อใช้ในการอพยพ เช่น ค่าขนของ ค่าทำจุดอพยพ ค่าจ้างขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
4.8 จัดให้มีการจ่ายค่าชดเชยที่เท่าเทียมกันในรูปแบบการเหมาจ่ายครัวเรือนละ 20,000 บาท
4.9 ดำเนินแก้ปัญหาที่ดิน อบจ. ต้องให้ชุมชนใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่อง โดยออกโฉนดชุมชนและออกบ้านเลขที่ เพื่อให้ง่ายต่อการการช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม
5.จัดสรรงบประมาณสำหรับการเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือน้ำท่วมในระดับชุมชนโดยเฉพาะชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยง ทั้งเขตเมืองและชนบท รวมทั้งต้องมีการประเมินความเสียหายหลังน้ำท่วม (Post Disaster Need Assessment) ที่ครอบคลุมความเสียหายที่แท้จริงของประชาชน ได้แก่ ประเมินการสูญเสียรายได้ระหว่างน้ำท่วม ประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำท่วม และความเสียหายของทรัพย์สินทั้งส่วนตัวและส่วนรวม
6.ผลักดันให้มีการชี้แจงงบประมาณภายหลังการดำเนินการจัดการภัยพิบัติทุกครั้ง มีการสรุปชี้แจงเงินช่วยเหลือจากรัฐ เงินบริจาค ให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้
ร่วมจัดทำข้อเสนอโดย
1) โครงการการศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์เกี่ยวกับผลกระทบอุทกภัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมสู่ความสามารถในการรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในจังหวัดอุบลราชธานี โดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
2) ชุมชนท่าบ้งมั่ง อ.วารินชำราบ
3) ชุมชนหาดสวนสุข อ.วารินชำราบ
4) ชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ
5) ชุมชนวัดบูรพา 2 อ. เมืองอุบลราชธานี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: