เชียงราย-ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค อ.แม่สาย (ศปก.) มีมติให้คนขับรถตู้และรถบรรทุกในพื้นที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อ.แม่สาย ที่มีเกือบ 600 คัน ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกคน 14 วันต่อครั้ง ส่วนคนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่เช่นรถบรรทุกน้ำมันจากพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น จ.ระยอง ต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุก 7 วัน หากไม่มีใบตรวจโรค จะผ่านจุดตรวจที่จะเข้ามา จ.เชียงราย ไม่ได้ โดยพบปัญหาค่าใช้จ่ายการตรวจเจ้าของรถบางคนไม่อยากเสีย แต่ย้ำว่าเป็นหน้าที่ต้องทำ สธ.เร่งตรวจสอบไทม์ไลน์ชายที่ระบุเข้าพื้นที่แล้วกลับไปป่วยที่นครปฐมว่ามีจริงหรือไม่
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 5 ม.ค.64 นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ประธาน ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค อ.แม่สาย (ศปก.) ได้เปิดประชุมที่ หอประชุมพระเจ้าพรหมมหาราช อ.แม่สาย มี พ.อ.สัมฤทธิ์ ฉัตรวัฒนาสกุล ผบ.ฉก.ม.3 และ ประธานกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) อ.แม่สาย,นายแพทย์ ศิริศักดิ์ นันทะ ผ.อ.โรงพยาบาล อ.แม่สาย,นายนรุตม์ชัย แก้วสอน สาธารณสุข อ.แม่สาย จ.เชียงราย,พ.ต.ชัชวาลย์ เหาะหา หัวหน้าหน่วยประสานงาน ชายแดนไทย-เมียนมา หรือ TBC ฝ่ายไทย(ประจำ พื้นที่ 1) อ.แม่สาย,ร.อ.ณัฐเกียรติ แสงไพศรี รอง ผบ.บก.ควบคุมที่ 2 ฉก.ม.3,ผู้แทน พ.ต.อ.พิพัฒน์ นาระเดช ผกก.สภ.แม่สาย,ผู้แทน พ.ต.อ.ณัฐวุฒิ แสงเดือน ผกก.ตรวจคนเข้าเมือง จ.เชียงราย,ผู้แทน นายออน อุ่นทวีทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สาย,ฝ่ายปกครองแม่สาย,น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และ ประธานหอการค้า อ.แม่สาย และตัวแทนคนขับรถตู้ รถบรรทุก และรถน้ำมัน ประชุมหารือกัน ราว 50 คน
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.)จากส่วนกลาง มีการประกาศพื้นที่ควบคุมโรคโควิด-19 หลายจังหวัดตามลำดับความรุนแรง ไล่จาก สีแดง ส้ม และ เหลือง ซึ่งจังหวัดเชียงราย อยู่ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง(สีเหลือง) และติดแนวชายแดน ดังนั้นจึงมีแนวทางในมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ดังนี้ รถตู้ขนส่งที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อ.แม่สาย ที่มีเกือบ 600 คัน แยกเป็นฝั่งไทยราว 380 คัน ฝั่งท่าขี้เหล็ก เมียนมา กว่า 200 คัน ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 คนขับรถตู้ทั้งหมด 14 วันต่อครั้ง ส่วนคนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่เช่นรถบรรทุกน้ำมันจากพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น จ.ระยอง และใกล้เคียงในพื้นที่สีแดง ต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุก 7 วัน หากไม่มีใบตรวจโรค จะผ่านจุดตรวจที่จะเข้ามา จ.เชียงราย เช่นที่ อ.พาน อ.เวียงป่าเป้า อ.ป่าแดด มายังพื้นที่ชั้นในไม่ได้ และให้คนขับรายงานตัวและเช็คอิน แอปพลิเคชัน สวัสดีเชียงราย และ แอปพลิเคชันไทยชนะ ทุกครั้งเมื่อเข้ามาในพื้นที่ การจัดงานที่มีคนมารวมตัวกันมากๆ เกิน 1,000 คน ต้องขออนุญาตจากระดับจังหวัดสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสูด(สีแดง)เข้ามาในพื้นก็ให้ลงทะเบียนในแอปพลิเคชั่นสวัสดีเชียงราย และไทยชนะและให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองแบบเข้มข้น และให้กักตัวเอง เป็นเวลา 14 วัน หรือเท่าที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด คือ เว้นระยะห่างระวังกัน สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย งดเว้นการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการรวมคนจำนวนมาก สถานบันเทิง
.หากมีอาการ ไข้ ไอ เป็นหวัด จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้รีบพบเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยในวันที่ 6-7 ม.ค.64 สาธารณสุข จ.เชียงราย มีโควตาตรวจหาเชื้อโควิด-19 แก่ประชาชนในพื้นที่ ที่กลับจากจังหวัดอื่นพื้นที่เป็นพื้นที่สีแดง โดย อ.แม่สายมี โควตา อยู่ 230 คน ให้ตรวจฟรี หากโควตาเหลือก็จะนำมาตรวจให้กับคนขับรถตู้ต่อไป และจะหาแนวทางตรวจคนขับที่เหลือทั้งหมดตามแผน
ทั้งนี้มีประเด็นหารือเรื่องค่าตรวจไวรัสโควิด-19 ด้วยการใช้ก้านสำลีหาเชื้อในโพรงจมูก (SWAB) มีค่าใช้จ่ายราว 3,000 บาทต่อคน ซึ่งที่ผ่านมา ในการใช้รถโมบายพระราชทาน เก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (Biosafety Mobile Unit) และการตรวจเชิงรุกโควิด-19 (โครงการ Active Case Finding) ตรวจฟรี มีการตรวจไปกว่า 2,403 คน เป็นงบประมาณยับยั้งของสาธารณสุข แต่หากจะตรวจอีกในห้วงที่ไม่มีการระบาดจะต้องหาโควตาที่มีมาให้ โดยอำเภอแม่สาย ได้มามากพอสมควร แต่คนพม่าจะไม่ได้รับการตรวจฟรี หากจะตรวจที่ด่านพรมแดนไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง รวมทั้งคนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ เช่นรถน้ำมันเชื้อเพลิงจากจังหวัดเสี่ยงสูง(สีแดง) ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งทาง ผบ.ฉก.ม.3 และ นายอำเภอแม่สาย ยืนยันว่า คนขับรถสินค้าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎ หากไม่มีการตรวจโรคหาไวรัสโควิด-19 ตามกำหนดก็จะไม่ให้ขับรถเด็ดขาด ต้องเลิกทำอาชีพนี้ และเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ นายจ้างหรือเจ้าของรถต้องยอมขาดทุนกำไร จากการค้ามาจ่ายค่าตรวจ เพราะคนขับรถคนไทย จะได้รับการตรวจฟรีในครั้งแรก แต่ครั้งต่อไปจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้ขับรถตู้บางคนในที่ประชุมมีการนำเสนอการตรวจโดยการเจาะเลือดตรวจซึ่งทราบว่าค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ทาง ผอ.รพ.แม่สาย ระบุการตรวจแบบนั้นตามที่ออกในโซเชียลยังไม่ได้รับการรับรองจากราชการ และอาจไม่ได้ผลที่แม่นยำ
และในวันอาทิตย์ที่ 10 ม.ค.64 ทางอำเภอ นัดให้คนขับรถตู้นำรถตู้ที่พรมแดนไทย-เมียนมา มารวมกัน ณ ลานเฮลิคอปเตอร์ ด่านศุลกากรแม่สาย เพื่อจะพ่นยาฆ่าเชื้อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนโดยข้อมูลจาก สาธารณสุขทราบอีกว่าที่ผ่านมามีคนขับรถตู้และรถบรรทุกตามชายแดนที่มีอยู่ มาตรวจหาเชื้อโควิด ราว 10% เท่านั้น นอกจากนี้วันนี้ น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และ ประธานหอการค้า อ.แม่สาย ได้มอบเครื่องวัดอุณหภูมิดิจิตอลแบบอัตโนมัติ ให้กับ อำเภอแม่สาย 1 เครื่อง เพื่อใช้ตรวจวัดอุณหภูมิในที่ว่าการอำเภอแม่สาย ด้วย ทางด้าน สาธารณสุข อ.แม่สาย กล่าวถึงกระแสข่าวในโซเชียลที่ระบุว่ามีชายวัย 64 ปี ชาว จ.นครปฐม เดินทางมาในพื้นที่ ราววันที่ 28-30 ธ.ค.63 โดยรถยนต์ส่วนตัวมา 3 คนพร้อมภรรยาและลูก และไปเที่ยวสถานที่หลายแห่งทั้งวัด ร้านกาแฟ แหล่งท่องเที่ยว และพัก รร.บางแห่ง และกลับไปป่วย ที่ จ.นครปฐม ว่า ทางสาธารณสุขแม่สาย กำลังเร่งตรวจสอบสถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องตามไทม์ไลน์ที่แชร์ต่อมากันมา ซึ่งหากชัดเจนว่ามาจริงและกลับไปแล้วป่วยจริง คงมีการแถลงอีกครั้งจากทางจังหวัดเชียงราย
ข่าวโดย : ธีรวัฒน์ คำธิตา ทีมข่าวเชียงราย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- เจ้าหน้าที่ตำรวจ-สาธารณสุขและฝ่ายปกครอง บุกพบหนุ่มป่วน.
- ชมคลิป-เตรียมเที่ยวงาน 10 ชาติพันธุ์ ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในรูปแบบใหม่ ชมขบวนแห่กลุ่มชาติพันธุ์อลังการ
- กองบิน 5 แถลงข่าวการจัดงาน “สดุดีวีรชน 8 ธันวาคม 2484” รำลึกถึงความกล้าหาญ และความสามัคคีของวีรชนผู้กล้า ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: