กรุงเทพฯ – ราชกิจจานุเบกษา เผยข้อกำหนด ยกระดับบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ 5 จังหวัด จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ต้องมีมาตรการเข้มงวด ตรวจเข้มคนเดินทางเข้า-ออก คาดโทษผู้ติดเชื้อจงใจปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลเท็จ
วันที่ 6 มกราคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ข้อกำหนดออกตามความใน มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. ยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรม หรือ กิจการต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง และประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยการรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้าหรือ หน้ากากอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ตลอดจนยอมรับการกักกันตนตามระยะเวลาและในสถานที่ที่กำหนด หากอยู่ในข่ายที่ต้องรับการกักกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งและใช้ระบบแอพพลิเคชั่นหมอชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพื่อให้การดำเนินการสอบสวนโรค และการเฝ้าระวังโรคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ควบคู่ กับการใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ
ข่าวน่าสนใจ:
2. การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะของประชาชนในการเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด จังหวัดระยอง และจังหวัดสมุทรสาคร โดยให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าวติดตั้งและใช้ระบบแอพพลิเคชั่นหมอชนะ
บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็น ที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น ตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทยกำหนด
3. การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิด อันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค รัฐบาลมีเจตจำนงที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการดำเนินการปราบปรามและลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ
รวมทั้งบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศ โดยมิได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ การคัดกรองโรค และการกักกันตัวตามมาตรการทำงานสาธารณสุข รวมทั้งการปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้ออำนวยหรือสมรู้ร่วมคิดให้มีการเปิดบ่อน การพนันขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งได้สั่งการและกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเร่งตรวจสอบเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการลงโทษ ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว รวมทั้งจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการ และเสนอมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อีกต่อไป
4. โทษ ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ย่อมเป็นความผิด ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จ ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรค เป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: