นครพนม – ฉ่ำหนาว ชาวสวนกะหล่ำปลีริมโขงรวยเละ ปลูก 3 เดือนโกยไร่ละแสน แถมเป็นจุด Check-in เที่ยวเชิงเกษตร นักท่องเที่ยวปลื้มแห่เซลฟี
วันที่ 8 มกราคม 2564 จากสภาพอากาศในพื้นที่นครพนมยังคงหนาวเย็นต่อเนื่อง มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 9 -12 องศาเซลเซียส ถือว่าปีนี้อากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา และส่งผลดีต่อเกษตรกรที่ปลูกพืชผักตามแนวริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่อำเภอบ้านแพง,ท่าอุเทน,เมืองฯ,และอำเภอธาตุพนม โดยเกษตรกรจะปลูกพืชผักสวนครัว รวมแล้วจำนวนหลายร้อยไร่ ซึ่งในฤดูนี้ช่วงตุลาคม – กุมภาพันธ์ มักเป็นผักที่กินใบเป็นส่วนใหญ่ และชอบอากาศหนาว ๆ เช่น กะหล่ำดอก, กะหล่ำปลี, บรอกโคลี, ปวยเล้ง, แครอท, ผักกาดขาว, ผักสลัด, และผักกาดหอม เป็นต้น
หากเป็นฤดูแล้งระหว่างมีนาคม – พฤษภาคม หลังน้ำโขงลด ฤดูร้อน ผักที่จะขึ้นได้ดีในฤดูนี้จะมีลักษณะที่ทนแล้งหรือชอบน้ำน้อย เช่น ฟักทอง, มะระ, บีทรูท, แตงกวา, คะน้า, ใบเหลียง, ผักหวาน, บวบ และมันมือเสือ เป็นต้น
การปลูกผักฤดูหนาวของเกษตรกรริมฝั่งแม่น้ำโขง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่ง ที่ปลูกส่งขายตลาด ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ยาวถึงเทศกาลสงกรานต์ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และยังเป็นผักปลอดสารพิษอีกด้วย เนื่องจากปลูกในดินตะกอนแม่น้ำโขงมีแร่ธาตุที่พืชต้องการจำนวนมาก
ข่าวน่าสนใจ:
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
เช่นเดียวกันกับพื้นที่บ้านบึงหล่ม หมู่ 6 ต.ดงขวาง อ.เมืองนครพนม จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นยะเยือก ส่งผลดีต่อพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีปลอดสารพิษของเกษตรกร แร่ธาตุที่สำคัญในดินตะกอนทำให้ผักโตเร็วได้น้ำหนัก ใช้ระยะเวลาปลูกสั้นประมาณ 3 -4 เดือน สามารถเก็บผลผลิตขายสร้างรายได้สู้ภัยโควิด ถึงแม้จะราคาไม่สูงนัก ตกกิโลกรัมละประมาณ 8 -10 บาท แต่สภาพอากาศหนาวเป็นปัจจัยทำให้โตเร็ว สามารถทำเงินได้ไร่ละเกือบแสนบาท
นอกจากนี้พื้นที่แปลงปลูกรกะหล่ำปลีของชาวบ้าน ไม่เพียงเป็นพื้นที่เกษตรสร้างรายได้แล้ว ยังกลายเป็นที่สนใจของประชาชน นักท่องเที่ยวแห่เดินทางมาเช็คอิน (Check-in) หรือเซลฟี (Selfie) ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก เที่ยวชมความสวยงามของแปลงกะหล่ำปลี ริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยทาง อบต.ดงขวาง ได้มีการพัฒนาจัดทำจุดเช็คอิน ถ่ายภาพ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย
นายทองเลิศ เอมโอษฐ์ อายุ 70 ปี เกษตรบ้านบึงหล่ม หมู่ 6 ต.ดงขวาง เปิดเผยว่า ช่วงฤดูแล้งทุกปีน้ำโขงจะมีปริมาณลดลง ก็จะทำการเกษตรปลูกพืชผักเศรษฐกิจหลายชนิดส่งขายตลาด อาทิ ผักสลัด คะน้า ต้นหอม รวมถึงกะหล่ำปลี เพราะพื้นที่ริมโขงหลังน้ำลดเป็นดินตะกอน ทำให้เอื้อต่อการทำการเกษตรดูแลไม่ยาก เพราะใช้น้ำจากน้ำโขงที่ไม่เคยแห้งเหือด และเป็นเกษตรปลอดสารพิษ ยิ่งในปีนี้กะหล่ำปลี ถือว่าได้ผลผลิตดี ยิ่งมีอากาศหนาวเย็นต่อเนื่อง ทำให้ผักโตเร็วใช้เวลาแค่ 3-4 เดือน ไม่ต้องใช้เวลาดูแลนาน สามารถเก็บขายได้เร็ว
ปีนี้ถึงแม้จะเจอปัญหาโควิดระบาด แต่สำหรับอาชีพการเกษตร ยังสามารถขายได้ เหมาะอย่างยิ่งผู้รักสุขภาพ ที่ต้องการบริโภคผักปลอดสารพิษ มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน ราคากิโลกรัมละประมาณ 8 -10 บาท บางรายขายได้ไร่ละเกือบแสน ถือว่าสร้างรายได้ดีพอสมควร จึงเป็นอาชีพเกษตรพอเพียงที่สร้างรายได้อย่างงาม อีกทั้งยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย มีคนมาเที่ยวชมตลอด เพราะว่าแปลงกะหล่ำปลีช่วงให้ผลผลิตจะมีความสวยงามมาก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: