กรุงเทพฯ – กระทรวงการคลัง สรุปมาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านธนาคารออมสินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งพักหนี้ เสริมสภาพคล่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ค้ำประกัน ซอฟต์โลน ยื่นขอสินเชื่อถึง 30 มิ.ย.64
วันที่ 12 มกราคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทำให้ประชาชนและสถานประกอบการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 7 แห่ง จึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงิน ทั้งมาตรการที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และมาตรการเพิ่มเติมอื่น ๆ โดยมีมาตรการสำคัญ ดังนี้
♦ มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ
ขอขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อ 3 โครงการ ประกอบด้วย
1.ขยายเวลาโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 7,500 ล้านบาท สนัสนุน ปชช รายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี เดิมหมดอายุ 30 ธ.ค.63 ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย.64
2.ขยายเวลาโครงการสินเชื่อสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำ หรือเกษตรรายย่อย วงเงิน 11,400 ล้านบาท ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกินร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน จากเดิมถึง 30 ธ.ค.63 ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย.64
3.ขยายเวลามาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและขยายการผลิต ที่มีเงินคงเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักและอุปกรณ์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในปีที่ 1-2 จากสิ้นสุดไม่เกิน 30 ธ.ค.63 ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย.64
♦ มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ)
ทั้งนี้ มาตรการพักชำระหนี้ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เดิมหมดไปเมื่อ 22 ต.ค.63 ขยายไปถึง 30 มิ.ย.64 ส่วนการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ยังดำเนินการต่อเนื่อง
มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย
1.ธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ
1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินคงเหลือประมาณ 7,800 ล้านบาท
2) โครงการมีที่มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท SMEs สามารถนำที่ดินแลกสินเชื่อจากธนาคารออมสิน เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น เพื่อรักษาธุรกิจและการจ้างงาน
3) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท ทุกโครงการรับคำขอสินเชื่อถึง 30 มิ.ย.64
2.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (สินเชื่อ Extra Cash) วงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึง 30 มิ.ย.64
3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้
1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9
2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 ทั้ง 2 โครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึง 31 ม.ค.64
3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ
ขณะนี้มีวงเงินเสริมสภาพคล่อง คงเหลือ 268,000 ล้านบาท และ Soft Loan จาก ธปท. อีก 370,000 ล้านบาท รวม 638,000 ล้านบาท
♦ มาตรการลดภาระ (ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยกเว้นค่าธรรมเนียมโอนอสังหาริมทรัพย์)
ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว สรุปว่า จะลดภาษีให้ร้อยละ 90 เหมือนเดิม ส่วนค่าธรรมเนียมการโอนอยู่ที่ร้อยละ 0.01 ซึ่งจะนำเสนอ ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: