“ทหารพันธุ์ดี” พลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาส ปลดปืนทำเกษตรผสมผสาน ผลผลิตขายชาวบ้านราคาถูก
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ม.ค. 64 พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.พล.ร.15/ผบ.ฉก.นราธิวาส เดินทางไปยังกองบังคับการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการทหารพันธุ์ดี ที่ พ.ท.ทวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผบ.ฉก.นราธิวาส 30 ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับวิกฤตโควิด -19 ที่ส่งผลให้ประชาชนรายได้หดหาย รวมทั้งภาคธุรกิจเองต้องปิดกิจการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการทหารพันธุ์ดีดังกล่าวนี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งประชาชนได้มีการเสนอแนะให้เจ้าหน้าที่ทหารดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำของแต่ละครัวเรือน ในการหาซื้อพืชผักและไข่เป็ดไข่ไก่ที่ทหารจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชน ได้นำไปบริโภคในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด แถมยังเป็นพืชผักปลอดสารพิษอีกด้วย
ทางด้าน พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.พล.ร.15/ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้เดินสำรวจพื้นที่ตามโครงการทหารพันธุ์ดี ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ที่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในระลอกแรก โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีกรวมเป็น 1 ไร่ และใช้พื้นที่รกร้างด้านหลังฐานฯในการสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก ทั้งเป็ดไข่ ไก่ไข่ รวมทั้งนกกระทา ที่สามารถนำผลผลิตออกจำหน่ายให้กับประชาชน ในราคาแผงละ 70 บาทถึง 80 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเบอร์ของไข่เป็ดและไข่ไก่ อีกทั้งยังได้นำไข่เป็ดและไข่ไก่ไปฟัก เมื่อครบกำหนดจะนำลูกเป็ดไข่และไก่ไข่ ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนได้นำไปเลี้ยงเมื่อเป็ดและไก่ออกไข่ จะได้นำไปบริโภคในครัวเรือน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือระยะยาว แถมเป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชน สามารถใช้เวลาว่างในการต่อยอดโครงการดังกล่าว จนกลายเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ ในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องดำเนินชีวิตแบบ New Normal
ต่อมา พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.พล.ร.15/ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้สำรวจโครงการทหารพันธุ์ดีซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริผสมผสาน โดยใช้พื้นที่ทางด้านขวามือของทางเข้าฐานที่ตั้งของหน่วยฯเป็นแปลงเกษตรในการปลูกพืชผัก ได้แก่ มะเขือ พริก ถั่วฟักยาว ผักบุ้ง ซึ่งอยู่ในระหว่างการเพาะปลูก หลังจากในช่วงที่ผ่านมาได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายในกับประชาชน อีกทั้งยังมีการตอนกิ่งมะนาวเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน ใช้พื้นที่ว่างรอบบ้านนำไปปลูกเพื่อบริโภค เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกทางหนึ่ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ข่าวน่าสนใจ:
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: