นครพนม – ผบ.ร.3 พัน.3 ค่ายพระยอดเมืองขวาง นำกล่าวปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย 2564
วันที่ 18 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากค่ายพระยอดเมืองขวาง จังหวัดนครพนม ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย ซึ่งที่ผ่านมาจะมีกิจกรรมที่กระทำในวันกองทัพไทย คือ พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล หรือที่นิยมเรียกว่า “สวนสนามสาบานธง” ซึ่งเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหารทุกนาย และเพื่อให้ทหารใหม่ได้ทำพิธีสาบานธงและเดินสวนสนามเพื่อแสดงความเป็นทหารอย่างสมบูรณ์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 ระลอกใหม่ กองทัพภาคที่ 2 มีนโยบายให้ทุกหน่วยในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 2 ที่มีธงชัยเฉลิมพลประจำการในหน่วย กระทำพิธี กระทำสัตย์ปฏิญาณ ต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย โดยไม่ให้มีพิธีการสวนสนาม โดยเปลี่ยนการทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลของทหารใหม่ รวมถึงข้าราชการและลูกจ้างมีไม่เคยกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลเข้าร่วมพิธี
โดยในครั้งนี้ปี 2564 หน่วย กองพันทหารราบที่ 3กรมทหารราบ 3(ร.3 พัน.3) ซึ่งมีธงชัยเฉลิมพลประจำการ จัดให้มีพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล ณ บริเวณหน้ากองบังคับการ ร.3 พัน.3 โดยมีกำลังจากมณฑลทหารบกที่ 210(มทบ.210) ซึ่งเป็นหน่วยข้างเคียงเข้าร่วมพิธี มีจำนวนทั้งสิ้น 350 นาย มี พันโทศรณณัฐ นวลมณี ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่3 (ผบ.ร.3 พัน.3) เป็นประธาน
ข่าวน่าสนใจ:
- มุกดาหาร แรลลี่ลุ่มน้ำโขง MEKONG CAR RALLY ท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก ปชส. จังหวัดทั้ง 3 รับนักท่องเที่ยวปีใหม่
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 954 คำนวณได้ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135 (บางตำราว่า ปีพุทธศักราช 2136)
เดิมกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปีพุทธศักราช 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคมเป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรี(ในสมัยนั้น) ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวันกองทัพไทย และวันสถาปนากระทรวงกลาโหมลง 13 มิถุนายน 2513
ต่อมาในภายหลัง ได้มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม แต่ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ 18 มกราคมของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม (ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการเปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทย ลง 23 สิงหาคม 2549) ในปัจจุบัน วันที่ 18 จึงถือเป็น “วันยุทธหัตถี” “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือ ” วันกองทัพไทย ”
อนึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นท่านแรกที่คำนวณไว ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ว่าตรงกับ 18 มกราคม แต่ทางกองทัพไม่ทราบเรื่อง จึงมิได้นำไปใช้ โดยท่านเป็นอดีตมหาดเล็กรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 6 เคยเล่าไว้เมื่อปลายชีวิตว่า สมัยที่ท่านผู้เล่ายังเป็นมหาดเล็กรับใช้อายุราว 15 ปี วันหนึ่งล้นเกล้าฯ มีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า “ปิ่นรู้ไหม สมเด็จพระนรเศวรยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาไปทำยุทธหัตถีวันไหน” ท่านว่าไปเปิดพงศาวดาร 3 ฉบับกล่าวไว้ไม่ตรงกันเลย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คิดวิธีทางคณิตศาสตร์และกระดานปฏิทินล้านปี เพื่อว่าวันเดือนปีที่กำหนด จะตรงกับวันใดในสัปดาห์ เช่น จันทร์ อังคาร พุธ เป็นต้น และคิดได้สำเร็จเมื่อไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และเมื่อมีการจัดตั้งท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ขึ้นแล้ว ท่านได้ขอให้ อ.สิงโต ปุกหุต หมุนเครื่องฉายดาวย้อนหลังไปตามที่พงศาวดารทั้ง 3 ฉบับบันทึกไว้ ผลที่ได้รับคือวันกระทำยุทธหัตถีที่บันทึกไว้ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ (แพ ตาละลักษณ์ – พระยาปริยัติธรรมธาดา) ที่ระบุวันแรม 2 ค่ำ เดือนยี่ น่าจะตรงกับวันที่ 18 หรือ 19 มกราคม ค.ศ. 1593 แต่ไม่แน่ชัด จึงต้องตรวจสอบด้วยกระดานปฏิทินล้านปีซึ่งเป็นปฏิทินสุริยคติที่ท่านได้ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อหาว่าวันไหนเป็นวันจันทร์ และพบว่าวันจันทร์ดังกล่าวตรงกับวันที่ 18 มกราคม เรื่องวันที่ 18 มกราคม เป็นวันกระทำยุทธหัตถีนี้ เคยเรียนถามท่านว่า ทำไมท่านไม่ประกาศให้โลกรู้ ท่านตอบว่า “คนเขาเชื่อว่าเป็นวันที่ 25 มกราคมแล้ว ก็ยากที่จะไปเปลี่ยนแปลง”
นายลอย ชุนพงษ์ทอง ได้อธิบายสาเหตุที่คำนวณผิด ในการประชุมทางวิชาการปฏิทินไทยเชิงดาราศาสตร์ จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ. 2550 ว่า น่าจะเกิดจากนับจำนวนวันถอยหลังจากวันเถลิงศกของปีนั้น ซึ่งใน ค.ศ.1593 นั้น ตรงกับวันที่ 9 เมษายน แต่เข้าใจผิดว่าวันเถลิงศกตรงกับ 15 เมษายน แบบ พ.ศ. 2522 การที่จะหาแรม 2 ค่ำ ต้องย้อนไป 2 เดือน 22 วัน หรือ 81 วัน ทำให้ได้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม และปรับเป็นวันจันทร์ที่ 25 มกราคมตามพงศาวดาร แต่การคำนวณที่ถูกต้องคือ วันเถลิงศกในยุคพระนเรศวรฯ ตรงกับ 9 เมษายน เมื่อย้อนไป 81 วัน จะได้ตรงกับวันจันทร์ที่ 18 มกราคมพอดี ไม่ต้องมีการปรับแก้ นอกจากนี้ยังได้พิสูจน์ โดยใช้ปฏิทินแผ่นหมุน5000ปี ซึ่งเป็นปฏิทินจันทรคติที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นเองในสมัยเป็นนิสิตจุฬา และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ปฏิทินไทย ยืนยันตรงกันว่าวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1593 ตรงกับวันจันทร์ ดวงจันทร์มีดิถีตรงกับ แรม 1 หรือ 2 ค่ำ ขณะที่วันจันทร์ที่ 25 จะตรงกับแรม 8 หรือ 9 ค่ำ ซึ่งไม่ถูกต้อง
วันกองทัพไทยยึดเอาวันกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งในยุคเริ่มแรกสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในช่วงปี 2523 ได้ใช้วันที่ 25 มกราคม
ต่อมานักประวัติศาสตร์ทักท้วงว่าการยึดเอาวันที่ 25 มกราคม 2135 เป็นวันยุทธหัตถีเป็นการคำนวณที่ผิดพลาด และพบว่าวันยุทธหัตถีตามบันทึกของพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ แท้จริงแล้วตรงกับวันที่ 18 มกราคมตามปฏิทินปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็นวันยุทธหัตถี ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักฐานที่ราชบัณฑิตยสถานและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ ซึ่งเป็นผลทำให้ประวัติศาสตร์ของวันยุทธหัตถีเปลี่ยนไป ดังนั้นเพื่อดำรงความมุ่งหมายเดิมในการกำหนดวันที่ระลึกถึงกองทัพไทยและกองทัพบก รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงกลาโหมและกองทัพบกจึงได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยและวันกองทัพบก จากเดิมวันที่ 25 มกราคม เป็นวันที่ 18 มกราคมของทุกปี โดยเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2550
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: