กรุงเทพฯ – กฟผ. เร่งผลิตตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวก มอบโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 10 แห่ง เพื่อตรวจคัดกรองผู้ต้องขังรับใหม่ ลดความเสี่ยงแพร่ระบาดของโควิด-19
นายสุทธิชัย จูประเสริฐพร รองผู้ว่าการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า กฟผ. ห่วงใยความปลอดภัยบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากการปฏิบัติหน้าที่ เบื้องต้น มอบตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวก เพื่อใช้ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 จำนวน 4 ตู้ ให้แก่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมี นายธาตรี สุนพงศรี ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นผู้รับมอบ ณ บริเวณด้านหน้าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพมหานคร
นายสุทธิชัย จูประเสริฐพร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. มีนโยบายให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์โดยการมอบอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 มาโดยตลอด โดย กฟผ. มีความตั้งใจที่จะมอบตู้ความดันบวกให้ครบทั้ง 10 สถานพยาบาลในเรือนจำและทัณฑสถานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นสถานพยาบาลลูกข่ายของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ ตามที่ได้มีการแจ้งความประสงค์มาที่ กฟผ.
ด้าน นายธาตรี สุนพงศรี ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ กรมราชทัณฑ์จึงยกระดับมาตรการให้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในผู้ต้องขังรับใหม่ทุกคนก่อนเข้าเรือนจำ จากเดิมที่มีมาตรการกักตัว 14 วันเท่านั้น และเมื่อทราบว่า กฟผ. ผลิตตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวกและตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันลบ ทางผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม จึงได้ติดต่อขอความอนุเคราะห์ตู้ความดันบวกเพื่อนำมามอบให้แก่สถานพยาบาลในเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 10 แห่ง เพื่อใช้ป้องกันเจ้าหน้าที่ในการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในผู้ต้องขังต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
“ขอขอบคุณ กฟผ. ที่ให้ความอนุเคราะห์แก่กรมราชทัณฑ์ในครั้งนี้ เบื้องต้น จะได้ส่งมอบตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวก 4 ตู้นี้ ไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำพิเศษกรุงเทพหานคร ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป” นายธาตรี สุนพงศรี กล่าว
ตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวกและความดันลบ ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีขนาดและความหนาที่ศึกษาแล้วว่าเหมาะสมต่อการใช้งาน สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ภายในตู้มีช่องสำหรับสอดมือซึ่งปิดผนึกอย่างมิดชิด เพื่อใช้เก็บสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และยังมีชุดควบคุมแรงดันอากาศ ทำหน้าที่ดูดอากาศผ่านชุดกรองฆ่าเชื้อ และฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC เพื่อกรองอากาศ และฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยและจำกัดพื้นที่การฟุ้งกระจายสารคัดหลั่งของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เมื่อผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 แล้ว ตู้เก็บสิ่งส่งตรวจความดันบวกและความดันลบของ กฟผ. ยังสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: