กรุงเทพฯ – คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในปี 2564
วันที่ 26 มกราคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน 3 เรื่อง ดังนี้
1.มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (มาตรการลดภาษีที่ดินฯ) เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 (เท่าเดิม) ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ.2564
2.มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย (มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ) เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเอง รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 ลงเหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
3.ขยายเวลายื่นแบบภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
3.1 ขยายเวลาการยื่นและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็น 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะการยื่นแบบ e-filing
3.2 ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และการนำส่งหรือชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีของเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 ที่ต้องยื่นแบบ นำส่ง หรือชำระ ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มิถุนายน 2564 โดยขยายเวลาออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ เฉพาะการยื่นแบบ e-filing
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า มาตรการลดภาษีที่ดินฯ และมาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ จะต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการขยายเวลายื่นแบบฯ ที่จะต้องออกประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยกระทรวงการคลังจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: