นครพนม – วันที่ 6 พ.ย.61 เวลา 09.00 น. บริเวณลานวัดบัวขาว บ้านนาบัว หมู่ 5 ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชนเผ่าผู้ไทยหรือภูไทมาตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้าน ได้รับเกียรติจาก นายเมธี กาญจนสุนทร นายอำเภอเรณูนคร เดินทางมาเป็นประธาน ในพิธีเปิด “หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP village 8 เส้นทาง)” โดยมี นายพงศ์วิชญ์ เขียวมณีรัตน์ พัฒนาการอำเภอเรณู และนายศักดิ์ดา แสนมิตร ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวต้อนรับ พร้อมคณะนักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านของชนเผ่าภูไท ที่อดีตถูกทางการเรียกว่าเป็นหมู่บ้านคอมมิวนิสต์
ข่าวน่าสนใจ:
- ขอนแก่นเข้มต่อเนื่อง!!เปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด รวบคู่รักนักค้ายา หลังฝ่ายชายเพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ
- ฝ่ายปกครอง อ.ปลาปากสนธิกำลังตร .บุกรวบหนุ่ม 20 ขาใหญ่ จำหน่ายยาบ้า โดดหลังบ้าน คว้ามีดพร้าเปิดทาง หลบหนีไปไม่รอด
- แห่ชมโคมไฟพร้อมรับลมหนาวทางเทศบาลตำบลตลุกดู่เนรมิตรให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว
- พะเยา สยบหนุ่มคลั่งควงมีด 2 เล่มพยายามทำร้ายชาวบ้าน
นายพงศ์วิชญ์ฯ กล่าวว่าด้วยรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เกิดความเข้มแข็ง ส่งผลประชาชนในชุมชนมีความรักสามัคคีกลมเกลียว จึงเกิดการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวฯ รวม 8 เส้นทาง 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน โดยให้จัดอยู่บนพื้นฐานของอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น คงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของคนในชุมชน และทรัพยากรที่สวยงาม สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน เพื่อสร้างเป็นรายได้แก่ประชาชนท้องถิ่นนั้นๆ
จังหวัดนครพนม มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนฯ ดำเนินโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว(OTOP village) ซึ่งเป็นเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำโขง จัดกิจกรรมเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว(OTOP Village) 8 เส้นทาง ในกิจกรรมเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวขึ้น ตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2560 (งบกลาง) มีพื้นที่ดำเนินการ 9 หมู่บ้าน 7 อำเภอ ซึ่งเรณูนครมีพื้นที่เป้าหมายคือ บ้านนาบัว หมู่ 5 ต.โคกหินแฮ่ วัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอโปรแกรมการท่องเที่ยว พร้อมแนะนำเส้นทางการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน และนำผลิตภัณฑ์ชุมชนดีเด่นจัดแสดง จำหน่ายแก่ผู้สนใจ เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยชวนสื่อมวลชน บริษัททัวร์ ภาครัฐ ภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
หมู่บ้านนาบัวเป็นชนเผ่าผู้ไทยหรือภูไท ที่อพยพมาจากเมืองเวียงอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว โดยมาพร้อมกับชนเผ่าไทกะเลิง และตั้งรกรากเป็นชุมชนใหญ่ที่อำเภอเรณูนครในปัจจุบัน ประมาณปี 2435 นายจันทร์สอน จิตมาตย์ ได้แยกมาจับจองที่ทำกิน ใกล้กับหนองน้ำซึ่งมีดอกบัวขึ้นจำนวนมาก และตั้งชื่อว่าบ้านนาบัว ภายหลังมีญาติพี่น้องย้ายมาอยู่ด้วย จนกลายเป็นชุมชนใหญ่อีกแห่งของชนเผ่าภูไท
บ้านนาบัวเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสังคม ที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยด้วยกันมีความขัดแย้งทางด้านความคิด ทางการเมืองอย่างรุนแรง จนกระทั่งคนไทยต้องลุกขึ้นสู้ฆ่าฟันกันเอง ภายใต้ความคิดและแนวการเมืองที่แตกต่างกัน ภายใต้ความไม่เข้าใจกัน
กระทั่งเกิดเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก คือ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ณ บ้านนาบัว ต.เรณูนคร อ.ธาตุพนม(เรณูนครตั้งเป็นกิ่งอำเภอปี 2513) จ.นครพนม ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ในขณะที่รัฐบาลเรียกว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)ใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก โดยกองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ได้ประกาศยุทธศาสตร์ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมืองและยึดเมือง หลังจากวันเสียงปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์ฯก็ต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังของรัฐบาลไทยมาตลอด และเป็นยุคแสวงหากลุ่มนักเรียนนักศึกษาประชาชนเข้าป่าเพื่อต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การสู้รบยืดยื้อเรื่อยมา มีการสูญเสียกันทั้งสองฝ่าย
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกคำสั่ง 66/23 นิรโทษกรรมแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ใจความสำคัญคือใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งเน้นขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม คำสั่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากนโยบายขวาจัดของรัฐบาลก่อนหน้า มาสู่การประนีประนอม อย่างไรก็ตามการปฏิบัติให้เป็นผลนั้นกินระยะเวลาหลายปี ต่อมา พคท.ได้เจรจากับรัฐบาลไทย และวันที่ 7 สิงหาคม 2522 หน่วยทหารในพื้นที่ได้จัดงาน “วันเสียงปืนดับ” ขึ้นที่บริเวณลานวัดบัวขาวแห่งนี้ เพื่อเเสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลและสมาชิก พคท. ได้สิ้นสุดลง โดยในงานดังกล่าวมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก(ในขณะนั้น) เดินทางมาร่วมงาน และได้มีการสร้าง “สนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม” ไว้ในบริเวณวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการจัดงานวันเสียงปืนดับในครั้งนั้น
การเกิดวันเสียงปืนแตก มีบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า ในปี 2500 เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกที่บ้านหนองกุง หมู่ 6 ต.โคกหินแฮ่ มีนายภูมิ ชัยบัณฑิต เป็นผู้นำการต่อต้านรัฐบาล ต่อมาในปี 2504 มีการจับกุมราษฏรในหมู่บ้านในข้อหาอันธพาล โดยนำไปขังลืมไว้ที่อำเภอธาตุพนม และที่จังหวัดอุดรธานี จากนั้นจึงนำไปขังไว้ที่เรือนจำนครบาล กรุงเทพฯ และครั้งสุดท้ายได้จับชาวบ้านนาบัว หมู่ 5 ต.โคกหินแฮ่ และบ้านหนองกุง จำนวน 9 คน ไปขังไว้ที่เรือนจำลาดบัวขาว จ.นครราชสีมา ถึงปี 2507 หลังรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองกลับสู่ภูมิลำเนาตนเอง มีชาวบ้านหนองกุงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกยิงตาย 2 คน ทำให้ราษฏรในเขตพื้นที่บ้านนาบัวและหมู่บ้านใกล้เคียงได้ทยอยกันเข้าป่า เพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อันเป็นที่มาของเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัวแห่งนี้
หลังสิ้นสุดการสู้รบชาวบ้านนาบัวก็ออกจากป่า ดำรงชีวิตตามปกติ ร่วมกันพัฒนาชาติไทย และยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนเผ่าภูไท ที่อาศัยอยู่แบบพึ่งพาธรรมชาติ เรียบง่าย มีจารีต ประเพณีดีอันดีงาม และเอกลักษณ์ที่โดดเด่น อันได้แก่สถาปัตยกรรมของบ้าน ภาษาที่ใช้ยังคงพูดภาษาภูไท รวมถึงการแต่งกาย ฟ้อนรำภูไท การผูกข้อมือบายศรี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศูนย์เรียนรู้บ้านนาบัว ที่รวบรวมเอาสิ่งของ เครื่องใช้ อาทิรองเท้าแตะที่ทำจากหนังควาย เป็นต้น หรืออุปกรณ์ทำมาหากินของบุคคลในอดีต ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมา วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: