พระนครศรีอยุธยา-“สุเทพ บุญแจ้ง กำนันนักพัฒนาผู้ผลักดันเปลี่ยนทุ่งนาเป็นทุ่งทานตะวันส่งเสริมการท่องเที่ยวมาแล้ว คราวนี้ รับนโยบายพ่อเมืองกรุงเก่า นำชาวบ้านเลิกทำนาปรัง หันปลูกข้าวโพดส่งโรงงานสร้างรายได้เกษตรกรฤดูแล้ง
ดูแล้วฤดูร้อนปีนี้น่าจะร้อนเอาเรื่องอยู่ หลังจากลมหนาวผ่านไปไม่นาน ที่ หมู่ 3 ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เกษตรกรที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดที่จะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง ปรากฏว่าประสบปัญหาไม่มีน้ำทำนา ชลประทานไม่สามารถสูบน้ำเข้าไปยังพื้นที่นาได้ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรที่มองหาทางรอด กระทั่งนายสุเทพ บุญแจ้ง กำนันแหนบทอง ต.ปากจั่น ได้มีการหารือกับทางผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ที่รับซื้อข้าวโพด ให้มาทำการวิจัยพื้นที่ในตำบลปากจั่นเป็นเวลานานนับปี จนสามารถพัฒนาพันธุ์เมล็ดข้าวโพด เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ ต.ปากจั่นได้ ซึ่งเบื้องต้นได้ชักชวนเกษตรกรรวมกลุ่มปลูก และเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการแปรสภาพพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังไปปลุกข้าวโพดแทน ปรากฏว่ามีเกษตรสนใจจำนวนมาก ทำการปลูกข้าวโพดแล้วหลายราย ในพื้นที่ ม.3 ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จำนวน 600 กว่าไร่ และที่ ม.4 ต.หนองปลิง อ.ภาชี อีกกว่า 100 ไร่ โดยเริ่มลงมือปลูกมาแล้วเป็นเวลา 1 เดือดเศษ ต้นข้าวโพดขึ้นงอกงามอย่างดี
นายสุเทพ กล่าวว่าตนเคยชวนเกษตรกรปลูกทุ่งทานตะวันมาแล้ว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นการปรับพื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน มาครั้งนี้นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีนโยบายให้เกษตรกรลดการทำนาปรังเนื่องจากน้ำน้อย และหาพืชอื่นมาทดแทน อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ตนจึงได้หารือกับผู้ประกอบการในเครือเจริญโภคภัณท์ ทำการวิจัยและหาพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะสมมาปลูก ตามโครงการปลูกพืชทางเลือก สู้วิกฤตภัยแล้งและสร้างรายได้เกษตรกร ที่สำคัญคือลดการเผาตอซังข้าว คาดว่าปลายเดือนเมษายน 64 นี้ก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว และขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมการปลูกข้าวในส่วนที่ยังปลูกได้ โดยเกษตรกรลงขันในการสูบน้ำในช่วงฤดูแล้งด้วย
ด้านนายรักชอบ ไชยภักดิ์ นักบริหารธุรกิจเกษตรครบวงจรเครือเจริญโภคภัณท์ เปิดเผยว่า บริษัทมีแนวคิดในเรื่องการพัฒนาการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรอยู่แล้ว ในการส่งเสริม 365 วันเกษตรกรคือคู่ชีวิต รับซื้อผลผลิตและช่วยเหลือแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำ ปุ๋ย การปลุก การพัฒนา ทางบริษัทจะเข้าไปเชื่อมโยงหาแหล่งเงินทุน ส่งเสริมการผลิต และรับซื้อคืนผลผลิตข้าวโพดทุกเมล็ด ทั้งที้การที่เกษตรกรเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืช เนื่องจากมีความเชื่อมั่นผู้นำคือกำนันนั่นเอง เชื่อว่าจะขยายการปลูกข้าวโพดไปในหลายท้องที่ลดการทำนาปรังในบางพื้นที่ช่วงแล้งได้
นายประทีป บุญแจ้ง เกษตรกรที่เคยปลูกนาปรัง ตอนนี้หันมาปลูกข้าวโพด เนื่องจากเห็นว่าการทำนาที่ผ่านมาใช้น้ำมาก อีกทั้งยังเกิดโรคแมลงเยอะมาก ได้รับคำแนะนำจากกำนันสุเทพ จึงหันมาปลูกข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ซึ่งปลูกในพื้นที่ 20 ไร่ เริ่มมาแล้ว 1 เดือน ต้นข้าวโพดขึ้นแข็งแรงดี ยังไม่มีศัตรูพืชมารบกวน เนื่องจากศัตรูพืชคนละตัวกัน กับต้นข้าว ที่สำคัญไม่กังวลเรื่องการใช้น้ำ เป็นการหนีน้ำแล้ง ใช้น้ำแค่ 500 คิวต่อไร่ ขณะที่นาปลุกข้าวใช้ 1200 คิวต่อไร่ และเมื่อถึงฤดูทำนาก็จะปรับทำนาปีตามปกติ เชื่อว่าจะเป็นทางรอดของเกษตรกรในช่วงแล้งนี้ได้อย่างแน่นอน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: