พระนครศรีอยุธยา-พิสิฐ พรหมนารท ผอ.ศูนย์วิจัยข้าวกรุงเก่า พูดถึงทุ่งมหาราช ทุ่งนาที่มีพื้นที่มากกว่า 3 หมื่นไร่ จะปลูกข้าวได้ดี เกษตรกรต้องรู้ให้ทันธรรมชาติ
พิสิฐ พรหมนารท ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย ศักดา จันทร์แก้ว ผ.อ.สถานีพัฒนาที่ดินพระนครศรีอยุธยา เดินทางไปพบกับตัวแทนผู้นำเกษตรกร ชุมชนที่อ.มหาราช บอกเล่าเรื่องราวของทุ่งมหาราชว่า อำเภอมหาราชมีพื้นที่นารวมราวสามหมื่นไร่ สภาพพื้นที่นาเป็นที่ลุ่มน้ำลึกในฤดูน้ำหลาก พื้นที่นาสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2-3 เมตรเท่านั้น ในฤดูน้ำหลากช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมจะมีน้ำในนาระดับลึก 1-2 เมตร ถ้าเป็นปีที่มีฝนตกมากระดับน้ำในนาอาจลึกกว่าสองเมตร ซึ่งก็จะพบได้ในนาข้าวขึ้นน้ำหลายแห่งในประเทศไทยเช่นอำเภอประจันตคามและกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
เดิมชาวนาจะใช้พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกใช้ปลูกในสภาพภูมิประเทศแบบนี้ โดยพันธุ์ข้าวกลุ่มนี้จะมีลักษณะพิเศษที่จะทนทานสภาพแวดล้อมที่พันธุ์ข้าวทั่วไปไม่มีคือทนแล้ง และทนดินเป็นกรดในช่วงแรกของการเจริญเติบโต เมื่อข้าวอายุมากกว่าสองเดือนจะมีความสามารถทนน้ำท่วมขังมากกว่า 7 วัน และมีความสามารถยืดตัวหนีน้ำท่วมได้วันละ 10-15 เซนติเมตร โดยพันธุ์ข้าวเหล่านี้จะเป็นพันธุ์ข้าวไวแสงอายุยาว 7-9 เดือน ซึ่งความสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงนี้ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับการให้ผลผลิตต่ำ 400-600 กก.ต่อไร่
สภาพภูมิประเทศแบบนี้ทำให้ทุ่งทะเลมหาราชแตกต่างจากนาข้าวทั่วไปในภาคกลางซึ่งมีการพัฒนาระบบชลประทาน และนำพันธุ์ข้าวต้นเตี้ย อายุสั้น 100-120 วัน และผลผลิตสูงถึง 1000 กิโลกรัมต่อไร่ มาใช้ในการพัฒนาการผลิตข้าวให้ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตามพื้นที่นาของทุ่งทะเลมหาราชยังมีความเฉพาะอีกอย่างที่มีทั้งการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมคือใช้พันธุ์ข้าวอายุยาว 7-9 เดือนที่จะใช้พันธุ์ข้าวไวแสง ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง และในพื้นที่เดียวกันนี้ชาวนามากกว่าครึ่งที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวก่อนน้ำท่วม พ.ค.-ก.ย. และหลังน้ำลด ธ.ค.-เม.ย.
ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการกำหนดนโยบายให้มีการปลูกข้าวเหลื่อมเวลาเต็มรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการจัดระเบียบการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตโดยไม่เสียหายจากฝนแล้งและน้ำท่วม คือเริ่มต้นปลูกเดือนพคแล้วเก็บเกี่ยวภายในวันที่ 15 กย แล้วจะมีการปล่อยน้ำเข้านาเริ่มวันที่ 16 กย ชาวนาปรังก็จะเก็บเกี่ยวเสดทั้งหมดไม่เสียหายจากน้ำท่วม และชาวนาก็จะสามารถเริ่มทำนาปรังได้อีกครั้งหลังปล่อยน้ำระดับลึกออกจากนาปีเพื่อเก็บเกี่ยว โดยการดำเนินการนี้จะไม่กระทบการทำนาปีเลยเพราะระดับน้ำที่ปล่อยเข้านาในเดือนกันยายนจะไม่ลึกเกินกว่าที่พันธุ์ข้าวนาปีจะรับได้
แต่ในช่วงหลังจากปี 2560 เป็นต้นมาฝนที่ตกสะสมในแต่ละปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ย น้ำที่สะสมในเขื่อนหลักไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาเหลื่อมเวลาตามนโยบายนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ทุ่งทะเลมหาราชที่มีทั้งนาปีและนาปรัง ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนแล้วทำนาปีล่าช้าเนื่องจากฝนตกน้อยแต่มีมากในช่วงปลายฝน ในวันที่ 1 มกราคมของปีนี้ชาวนาปรังปลูกข้าวนาปีล่าช้าข้าวมีอายุราวสองเดือนแต่น้ำในแหล่งเก็บทั้งหมดกำลังจะหมดลงในเพียงเวลาไม่เกิน 1 เดือน นั่นหมายความว่าชาวนาปรังในพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรีซึ่งอยู่ตรงข้ามและอยู่เหนือทุ่งทะเลมหาราชไปนั้น จะขาดน้ำและแทบจะไม่ได้ผลผลิตเลยจากพื้นที่นาราวสองหมื่นไร่ แต่ด้วยการประสานงานของหน่วยราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำ และการที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดท่านภาณุ แย้มศรี เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ท่านจึงสั่งการให้ดำเนินงานบริหารจัดการนี้จนเป็นผลสำเร็จ
เรื่องนี้เริ่มด้วยนายบุญประกอบ แซ่ลิ้ม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลน้ำเต้า นำเสนอแผนการผลักดันน้ำจากทุ่งทะเลมหาราชซึ่งชาวนาปีใกล้เวลาเก็บเกี่ยวต้องการปล่อยน้ำออกจากนาให้หมดนั้น หากเปิดประตูน้ำที่จะปล่อยมวลน้ำนี้ลงทิ้งทะเลโดยเปล่าประโยชน์นั้น หากปิดประตูน้ำไว้มวลน้ำนี้จะลงไปอยู่ในแม่น้ำลพบุรีแล้วไหลย้อนขึ้นไปถึงอำเภอบ้านแพรกแล้วเปิดประตูน้ำรับมวลน้ำนี้เข้าไปช่วยชาวนาปรังที่กำลังจะขาดน้ำให้ได้รับน้ำจนสามารถหล่อเลี้ยงให้ข้าวได้ผลผลิต หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเสนอแผนต่อท่านผู้ว่าและท่านได้สั่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5-10 มกราคม และได้ผลเป็นที่น่าพอใจสามารถช่วยชาวนาปรังพื้นที่กว่าหมื่นห้าพันไร่เก็บเกี่ยวได้เกือบทั้งหมด
การบริหารจัดการนี้แทบจะไม่ได้สิ้นเปลืองงบประมาณทางราชการเลย ใช้เพียงแค่การกดสวิทช์เปิดและปิดประตูน้ำเพื่อผลักดันน้ำที่มีแผนจะปล่อยทิ้งทะเลอยู่แล้ว มาใช้ประโยชน์กับชาวนาปรังที่รอน้ำอยู่ โดยการบริหารจัดการนี้ไม่ได้กระทบการบริหารจัดการน้ำของประเทศจากสี่เขื่อนหลักเลย
การบริหารจัดการนี้มีความจำเป็นเมื่อน้ำในเขื่อนหลักมีน้อยและไม่พอสนับสนุนนาปรัง โดยมวลน้ำในทุ่งทะเลมหาราชที่จะปล่อยทิ้งทะเลนั้นมีมากกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกประการหนึ่งมวลน้ำในพื้นที่นาลุ่มน้ำลึกในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอีกหลายแห่ง มวลน้ำรวมแล้วมีมากเทียบเท่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คือราว 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยาที่เป็นหน่วยงานต้นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้ จะเป็นหน่วยงานที่จะส่งทีมเข้าพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งจากโครงการส่งน้ำชลประทานและชาวนาปรังและนาปีอย่างครบถ้วน แล้วจะเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป
สำหรับพื้นที่นาอำเภอมหาราชเองแล้วนั้น การบริหารจัดการน้ำนี้ควรจะเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำสำรอง จะมีประโยชน์มากเมื่อน้ำในสี่เขื่อนหลักของประเทศไม่สามรถสนับสนุนการทำนาปรังของชาวนาที่ยอมรับและปฏิบัติตามนโยบายของจังหวัดที่ให้มีจัดระเบียบการทำนาเหลื่อมฤดู จะยังมีมวลน้ำสำรองให้จังหวัดได้บริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด อันจะทำให้เกิดรายได้แก่ชาวนามากกว่า 100 ล้านบาท โดยใช้เพียงแค่ความเข้าใจและบริหารจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสม
การบริหารจัดการนี้ก็จะเป็นการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำที่จะทำให้ชาวนาปีได้มีส่วนช่วยชาวนาปรังที่อาจต้องการมวลน้ำจำนวนมากในช่วงเวลาที่จำเป็น และการจัดการนี้จะทำให้ทุ่งทะเลมหาราชเป็นต้นแบบของการทำอาชีพเกษตรกรรมที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันซึ่งเป็นวิถีเดิมของวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีที่มีมาแต่โบราณกาลสืบต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: