ช้างกว่า 60 เชือก ขาดแคลนอาหารอย่างหนักหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดกลับมาอยู่บ้าน ประกอบกับสภาพอากาศร้อนจัด ทำหญ้าธรรมชาติขาดแคลน ต้องสั่งซื้อ หรือออกหาอาหารไปป้อนช้าง บางตัวอ้วนท้วนไม่มีงานทำไม่ได้ออกกำลังกาย กินนอน จนตกมัน บางตัวผ่ายผอมเพราะอาหารไม่พอ บางรายต้องประกาศขายช้าง แต่ไม่มีคนซื้อ วอนรัฐรับจำนำตั๋วช้าง เพื่อนำเงินมาประทังชีวิตทั้งคน และช้าง
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด -19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เป็นระลอกที่ 2 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้ช้างจำนวนมากทั่วประเทศ รวมทั้งในจ.ตรังที่มีรวมกว่า 60 เชือกเดือดร้อนหนัก โดยส่วนหนึ่งที่ไปทำงานอยู่ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ที่จ.กระบี่,จ.พังงา,จ.สงขลา ต้องเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนามาอยู่ในพื้นที่ จ.ตรัง เนื่องจากไม่มีงาน ไม่มีเงิน ประกอบกับแหล่งหญ้า อาหารธรรมชาติขาดแคลน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน และต้องหาแหล่งน้ำให้ช้าง เดือดร้อนหนัก บางรายประกาศขายช้าง แต่ไม่มีคนซื้อ วอนรัฐรับจำนำตั๋วช้างนำเงินมาต่อชีวิตทั้งคนและช้าง
นางสาวพิมพร เหมรัตน์ อายุ 51 ปี 26 หมู่ 5 ต.ในควน อ.ย่านตาขาว กล่าวว่า ตนเองและพี่ๆ น้องมีช้างรวมกันทั้งหมด 21 เชือก จากสถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลให้ขาดแคลนอาหารตามธรรมชาติ ประกอบกับเจ้าของช้างเองก็ไม่แทบมีงานทำเลย ซึ่งเดิมส่วนใหญ่จะไปทำงานตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็ต้องหยุดหมด ขนช้างกลับมาบ้าน นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดครั้งที่แรก จนมาเกิดผลกระทบซ้ำสองในการระบาดล่าสุด เหลือเพียงแค่งานชักลากไม้เล็กๆ น้อยๆ จากรายได้ที่เคยได้ถึงเดือนละประมาณ 1 แสนบาท ขณะนี้แทบไม่มีเข้ามาเลย จึงเริ่มทำให้ช้างที่เลี้ยงไว้ประสบปัญหาผ่ายผอมลง บางเชือกกินนอนไม่ได้ทำงานก็ตกมัน จึงต้องนำไปผูกล่ามไว้ในที่ปลอดภัย ขณะที่อาหารก็ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้าง เนื่องจากปีนี้ภัยแล้งรุนแรง ทำให้หาอาหาร เช่น ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นสับปะรด ได้ยาก บางส่วนต้องไปซื้อขนมาจาก จ.กระบี่ ค่าใช้จ่ายคันละประมาณ 2,000 บาท ทุกวันนี้ตนเองต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ สารพัด รวมทั้งเงินเดือนของควาญช้างคนละ 5,000 บาท แต่ทุนทรัพย์ที่เคยมีกำลังหมดลงไปเรื่อยๆ เพราะต้องประสบปัญหาย่ำแย่เช่นนี้มายาวนานต่อเนื่องเป็นปีแล้ว และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ถึงสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง กระทั่งล่าสุดมีข่าวว่าสามารถเอาตั๋วช้างไปกู้เงินได้ที่ ธ.ก.ส.ในราคาเชือกละ 3 แสนบาท เพื่อจะได้นำเงินก้อนนี้มาแก้ปัญหา และต่อชีวิตอาชีพเลี้ยงช้างต่อไป แต่พอตนเองไปติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร ธกส.สาขาย่านตาขาว กลับบอกว่ายังไม่มีคำสั่งมาจากเบื้องบนเลย จึงทำให้ยังไม่มีเงินทุนใดๆ มาช่วยเหลือเลย
ทางด้านนายสุชาติ บัวเกิด ประธานชมรมกลุ่มคนเลี้ยงช้าง จ.ตรัง กล่าวว่า ช้างในจังหวัดตรังกว่า 60 เชือก ตกอยู่ในภาวะตกงานหลังการระบาดของโควิด19 โดยช้างจำนวนดังกล่าวเดิมทำหน้าที่เป็นช้างท่องเที่ยว อยู่ในจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และ สงขลา แต่เมื่อมีการระบาดของโรคฯ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ ปางช้างไม่มีงานให้ช้างทำ เจ้าของจึงต้องนำช้างกลับบ้าน เพื่อมาทำงานลากจูงไม้ยางพาราจากสวนยางพาราห่างไกลถนน แต่เหมือนเคราะห์ร้ายซ้ำสอง เมื่อปัจจุบันราคาไม้ยางตกต่ำ เจ้าของสวนไม่โค่นไม้ยาง จึงไม่มีงานลากจูงให้ช้างทำ เจ้าของช้างต้องขาดรายได้ ขณะที่ยังคงเป็นหนี้สินธนาคาร เพราะโดยแต่ละเดือนเจ้าของช้างต้องแบกรับ ค่าอาหารช้าง ค่าขนส่งอาหาร และค่าจ้างเลี้ยงช้างนับหมื่นบาทต่อเชือก
นายสุชาติ กล่าวว่า จากภาวะดังกล่าวทำให้เจ้าของช้างหลายราย ประกาศขายช้างในราคาถูก จากที่เคยขายกันในราคาเชือกละ 3 ล้านบาท ตอนนี้ขายกันเพียงราคา 1.5 ล้านบาทต่อเชือก แม้จะขายถูกก็ไม่มีใครซื้อ เพราะซื้อไปก็ไม่มีงานรองรับ ส่วนสาเหตุที่ประกาศขายช้างเพราะเจ้าของต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย และต้องการทำเงินไปปลดหนี้ธนาคาร ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนกว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้น และถือเป็นความเดือดร้อนที่รุนแรงที่รอบหลายสิบปี เพราะตนเองเลี้ยงช้างมา 30 ปี ไม่เคยมีครั้งไหนในชีวิตที่ผู้ประกอบการเลี้ยงช้างย่ำแย่ขนาดนี้ อีกทั้งยังต้องมาเจอปัญหาขาดแคลนเรื่องอาหารช้างและน้ำที่หายากในช่วงหน้าแล้งซ้ำเติมอีก
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ผลผ่าพิสูจน์การตายพะยูน 2 ตัว ผอม หญ้าในท้องน้อย ป่วยตาย
- ตรัง ชื่นชมชุมชนท่องเที่ยวร่วมใจเก็บขยะบนเกาะเหลาเหลียง
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: