ชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน บ้านเจ้าไหม – หาดยาว เดือดร้อนหนักขาดน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ระบบประปาหมู่บ้านของอบต.เกาะลิบง ชำรุดไร้การดูแลแก้ไขซ่อมแซมให้ใช้งานได้เป็นปกติ ทำชาวบ้านเดือดร้อนซ้ำซากมานานนับสิบปี และโดยเฉพาะหน้าแล้ง ชาวบ้านรวมตัวร้องเรียนหลายครั้ง แต่ไร้การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่ละเดือนชาวบ้านต้องเสียค่าใช้เฉพาะค่าน้ำกิน น้ำใช้ ซักผ้า เดือนละประมาณ 2,000 บาท เดือดร้อนต้องไปขนน้ำจากต่างตำบล
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน บ้านหาดยาว-เจ้าไหม หมู่ที่ 6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ของชาวบ้านซี่งมีมากถึง 210 หลังคาเรือน โดยชาวบ้านที่นี่ต้องซื้อน้ำใช้ สำหรับอาบ ซักผ้า ล้างจาน และใช้ในกิจวัตรประจำวัน ถังขนาด 800 ลิตร ในราคา 300 บาท และซื้อน้ำสำหรับบริโภค ในราคาถังละ 10 บาท (ขนาด10 ลิตร) ชาวบ้านบางรายที่มีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ต้องไปสูบน้ำจาก คลองไม้แดง ต.บางสัก อ.กันตัง ซึ่งอยู่ห่างจากไกลหมู่บ้านกว่า 10 กม. และการสูบน้ำแต่ละครั้งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับมอเตอร์สูบน้ำ ให้กับเจ้าของบ้านที่อยู่ใกล้คลองฯ เป็นเงิน 20 บาทต่อครั้ง โดยปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคของชาวบ้านหาดยาว -เจ้าไหม คาราคาซังมานานนับสิบปี ผ่านผู้บริหารอบต.มาแล้วหลายยุคหลายสมัย แต่ปัญหาก็ยังคงเดิม การซ่อมแซมแก้ไขแต่ละครั้งไม่ได้สมบูรณ์ถาวร น้ำจะไหลบ้างไม่ไหลบ้าง ไหลอ่อน หรือ 3-4 วันไหลอ่อนๆมาครั้ง หรือนานนับสัปดาห์ หรือบางครั้งหยุดไหลนานประมาณ 2-3 เดือน ติดต่อกัน เมื่อชาวบ้านสอบถามหรือรวมตัวกันไปเรียกร้องกันระยะๆ ก็ได้รับคำตอบว่าอุปกรณ์บางอย่างชำรุดเสียหายในทุกๆครั้ง ต้องขอเวลาซ่อมแซมแก้ไข โดยปัญหาดังกล่าวจะเป็นซ้ำๆซากๆ ทั้งหน้าฝน และหน้าแล้ง หากไหลมาก็ไหลอ่อน ชาวบ้านทุกครัวเรือนต้องตัดสายยางทิ้ง เพื่อให้น้ำได้ไหลออกมา หรือต้องนำสายยางไว้ที่ต่ำ หรือบางรายต้องขุดหลุม เพื่อให้สายยางต่ำ แล้วเอากะลังไปวาง เพื่อรองรับน้ำ บางรายต้องตื่นแต่ตี 3 มารอรองรับน้ำ จากนั้นก็ตักใส่ถัง หรือตักไปใส่ในตุ่ม โอ่ง เพื่อไว้ใช้ ทำชาวบ้านทั้งหมดดังกล่าวไม่เคยใช้น้ำประปาที่สมบูรณ์เหมือนกับชาวบ้านในตำบลอื่นๆ ต้องเสียเงินซื้อน้ำอาบ น้ำกิน น้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยแต่ละครัวเรือนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำอาบ น้ำใช้ และต้องจ่ายค่าซักผ้าเดือนละ 1,000 -2,000 บาท ซึ่งชาวบ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เดือดร้อนหนัก ที่ต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทนที่จะเอาเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นหรือไว้เลี้ยงลูก หากไม่ซื้อก็ไม่มีน้ำใช้ ครั้นจะใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้น ที่มีอยู่ในชุมชน ไม่สามารใช้ได้เนื่องจากเป็นที่ชายทะเล น้ำในบ่อน้ำตื้นมีปริมาณน้อย และ เป็นน้ำกร่อย ใช้อาบทำความสะอาดร่างกายไม่ได้ บางน้ำมาเป็นสีขุ่น สีชาเย็น ซักเสื่อผ้าก็เสียหาย อาบน้ำก็คันผื่นทั่วตัว โดยทุกคนวอนขอให้ทางอบต.ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมแก้ไขให้ระบบประปาหมู่บ้านให้สามารถใช้งานได้เป็นปกติเหมือนกับน้ำประปาหมู่บ้านของตำบลอื่นๆ ที่เขาดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน นอกจากนั้น ระบุว่าที่ผ่านมาร้องเรียนเรื่องดังกล่าวนี้ทุกปี นับร้อยครั้งแล้ว จนเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง เพราะเลือกไปก็ไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน จึงวอนขอให้มีจิตสำนึกในการเข้าไปหน้าที่แก้ไขปัญหาช่วยเหลือชาวบ้าน โดยจำนวนมากต้องเดินทางไปขนน้ำจากตำบลใกล้เคียงมาบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน
นางเสาะระ หมาดตุด อายุ 52 ปี ได้หอบเสื้อผ้าของสมาชิกในครอบครัว มาให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมกับบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เพราะไม่มีน้ำใช้เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วจึงไม่ได้ซัก เพราะต้องซื้อน้ำมาใช้ ซึ่งต้องซื้อน้ำจำนวน 800 ลิตร ในราคา 300 บาท ทั้งนี้ นางเสาะระ กล่าวเพิ่มเติม ต.เกาะลิบง มีประปาหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้ใช้น้ำ เพราะประปาไม่มีคุณภาพ น้ำไหลช้า น้ำไหลบ้าง ไม่ไหลบ้าง บางวันน้ำใส บางวันน้ำขุ่น บางครั้งไม่ไหลนานเป็น 3 เดือน โดย อบต.อ้างว่าอุปกรณ์บางอย่างชำรุดเสียหาย ต้องใช้เวลาซ่อมแซม มาบ้างหยุดบ้าง เป็นแบบนี้มานานหลายปี
ข่าวน่าสนใจ:
- องคมนตรีเชิญสิ่งของพระราชทานเนื่องในโอกาสปีใหม่ 2568 มอบให้ทหารกองกำลังป้องกันชายแดน จ.สระแก้ว
- โครงการวิลล่าหรูเกาะสมุยฝืนคำสั่งรื้อถอนอาคาร ยังปล่อยให้ต่างชาติเช่าวิลล่า
- นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร…
- ตรัง ชาวบ้านสืบสานอนุรักษ์การปลูกข้าวไร่ไว้กินเองครอบครัวเหลือขาย
นางสาววลัยพรรณ เก้าเอี้ยน อายุ 20 ปี กล่าวว่า ตนต้องซื้อน้ำใช้เหมือนกับชาวบ้านคนอื่น ส่วนเสื้อผ้าต้องนำไปซักบริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆละ 2 ถัง ในราคาถังละ 40 บาท เดือนละประมาณ 7 ครั้งๆละ 2 ถัง หรือ 14 ถัง ส่วนน้ำอาบ หรือน้ำใช้ในครัวเรือน ก็ต้องเสียเงินซื้อเดือนละ 4-5 ครั้ง ถังขนาด 800 ลิตร ในราคาถังละ 300 บาท ขนาด 800 ลิตร เฉพาะน้ำอาบ น้ำใช้ เดือนละประมาณ 600 -900 บาท แต่ละเดือนชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าน้ำเดือนละประมาณ 2,000 บาท
นางบุหลัน หมาดตุด อายุ 70 ปี กล่าวว่า อบต.เกาะลิบง มีสระน้ำขนาดใหญ่สำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน แต่ประปาที่ได้กลับไม่สะอาด น้ำไม่ไหล บางครั้งน้ำขุ่นเป็นสีชาเย็น ซึ่งชาวบ้านได้ร้องเรียนไปที่ อบต.เกาะลิบง หลายครั้แต่ไม่ได้รับการแก้ไข โดย อบต.มักอ้างกับชาวบ้านว่าอุปกรณ์เสีย รอช่างมาซ่อมแซม ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งที่น้ำมีความจำเป็นต่อชีวิตทุกคน และ จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน แม้ว่าบ้านของตนจะมีบ่อน้ำตื้นอยู่ข้างบ้าน แต่เอามาดื่มกิน หรือ ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ เพราะเป็นน้ำกร่อย และบ่อน้ำตื่นที่นี้ขุดได้ลึกไม่เกิน 3 เมตร หากลึกกว่านั้นจะเป็นน้ำเค็ม เช่นเดียวกับห้องน้ำท่าเทียบเรือหาดยาว ทางอบต.ก็ต้องเสียเงินซื้อน้ำจากเอกชนมาไว้ให้บริการในห้องน้ำตนเอง
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เฉพาะปีนี้ได้รวมตัวกันโดยมีผู้ใหญ่บ้าน นำชาวบ้านไปเรียกร้องกับ อบต.เกาะลิบง เมื่อประมาณเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ซึ่ง อบต.รับปากกับชาวบ้านว่าจะแก้ไขปัญหาให้โดยเร็ว ภายใน 3 วัน 7 วัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่ได้รับการแก้ไข โดย อบต.มักอ้างเหตุผลต่างๆ นานา
นอกจากนั้น ชาวบ้านได้นำผู้สื่อข่าวไปดูสระน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตประปาหมู่บ้าน พบว่าป้ายโครงการระบุเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือโครงการตำบลละ 5 บาท เมื่อปี 2559 สร้างด้วยงบประมาณรวมกว่า 2 แสนบาท โดยเมื่อไปถึงพบว่า การสูบน้ำและผลิตน้ำประปา มีการเดินเครื่องปกติ แต่สังเกตบริเวณโรงสูบน้ำ พบท่อประปาขาดน้ำแตกกระจายเจิ่งนองทั่วบริเวณ และไหลแรงไปตามพื้นดิน ส่วนที่หอถังเมื่อทดลองเปิดดูน้ำก็พุ่งออกมาจากหอถัง ส่วนในสระน้ำพบว่าปริมาณน้ำยังคงมีมากพอ สีเขียวใส โดยชาวบ้านระบุว่าปริมาณน้ำที่มีในสระน้ำขณะนี้ มีมากเพียงพอสำหรับเลี้ยงชาวบ้านได้ทั้งหมู่บ้านตลอดหน้าแล้ง แต่ทาง อบต.ไม่ดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขในสิ่งที่ชำรุดเสียหาย พร้อมวอนขอให้ อบต.เร่งดำเนินการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้ จะได้ไม่ต้องไปอาศัยขนน้ำจากตำบลอื่นมาใช้ในครัวเรือน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: