6 ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครตรัง จาก 5 ทีม และ 1 ผู้สมัครอิสระ ประชันวิสัยทัศน์-เสนอนโยบาย การป้องกันและต่อต้านการคอรัปชั่นในองค์กร พร้อมสร้างความเชื่อมั่นจะบริหารเทศบาลนครตรัง อย่างโปร่งใส
ผู้สื่อข่าว77ข่าวเด็ด ได้สัมภาษณ์ผู้สมัครนายกเทศบาลนครตรัง จำนวน 6 คน จาก 5 ทีม และ 1 ผู้สมัครอิสระ ได้แก่ หมายเลข 1 นายกัมปนาท อินทองมาก (ทนายหมี) ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 2 นายพิชญะ ศิริศุภนนท์ ทีม แม่น้ำตรัง หมายเลข3นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ ทีมโกบุ้น หมายเลข 4 นายสัญญา ศรีวิเชียร ทีม ดร.สัญญา พัฒนานครตรัง หมายเลข 5 นายทวีรัตน์ เลาหทัยชนก ทีมต้นกล้านครตรัง และหมายเลข 6 นพ.รักษ์ บุญเจริญ ทีมหมอรักษ์โดยผู้สมัครทั้ง 6 คน ได้ให้สัมภาษณ์ประเด็น การคอรัปชั่นภายในองค์กรเทศบาลนครตรัง ไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยการกำหนดนโยบาย และ แนวคิดการบริหารงานเทศนครตรัง เพื่อลดและขจัดดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด และ ค่อยๆ สลายไปในที่สุด
นายกัมปนาท อินทองมาก (ทนายหมี) ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 1 กล่าวว่า การที่ผมลงสมัครเป็นผู้สมัครอิสระเพียงหนึ่งเดียว เพราะผมมีแนวคิดการทำงานเริ่มต้นอย่างนี้ “ไม่อยากส่งผู้สมัคร สท. เพื่อมาเป็นลูกน้องของตัวนายก หาก สท.เป็นลูกน้องนายกแล้ว กระบวนการตรวจสอบจะไม่เกิด” ถ้ามี สท.ที่เข้ามามีจำนวนมากพอ และเป็นเสียงข้างมากในสภาเทศบาลฯ นายกสามารถสั่งให้ลูกทีมยกมือสนับสนุนได้ ซึ่งการเริ่มต้นแบบนี้ก็เห็นการทุจริตแล้ว หากตัวนายกทำโครงการที่ไม่คุ้มค่าไม่เกิดประโยชน์ สท ที่เป็นลูกน้องต้องยกมือสนับสนุน เขาไม่สามารปฏิเสธความเป็นลูกน้อง กับ หัวหน้า ได้เลย
ผมทำงานด้านการตรวจสอบ การทุจริต การทำโครงการที่ไม่คุ้มค่ามาตลอด ฉะนั้นพี่น้องชาวนครตรังต้องพิจารณาเลือกคนที่ไม่มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต หรือ มีเจตนาทุจริต เข้ามาบริหารเทศบาลนครตรัง โดยเริ่มจากการมองที่นโยบายของผู้สมัคร ว่านโยบายที่นำเสนอสามารถทำได้จริงหรือไม่? ซึ่งนโยบายที่สวยงามแต่ทำไม่ได้นั่นถือว่าเป็นการหลอกลวงปชช. และ ชาวบ้านเองต้องไม่ขายสิทธิ ไม่เลือกคนซื้อเสียงมาบริหาร “หากผมได้เป็นนายกเทศมนตรีนครตรัง สมาชิกสภา ซึ่งไม่มีใครเป็นลูกทีมของผม เขาจะได้ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้บริหารอย่างเข้มแข็ง รวมไปถึงการเผยแพร่ การประชุมสภาผ่านระบบออนไลน์ เฟสบุ๊กไลฟ์ ส่วนหนึ่งเพื่อให้ปชช.รับรู้ และ ให้ปชช.ตรวจสอบการทำงานของตัวนายกได้” และการทุจริตที่ผ่านมา บางส่วนเกิดขึ้นจากความตั้งใจ กล่าวคือ เกิดจากข้าราชการร่วมมือกับนักการเมือง นักการเมืองคิด แต่ข้าราชการไม่ร่วมด้วย การทุจริตจะเกิดได้ยากมาก และ มีบางส่วนเกิดจากการไม่รู้ระเบียบ กฎหมาย ซึ่งปัญหานี้ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรม ศึกษากฎระเบียบ เพื่อจะทำมาใช้มาปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
นายพิชญะ ศิริศุภนนท์ ทีม แม่น้ำตรัง หมายเลข2 กล่าวว่า วิธีการป้องกันยังการคอรัปชั่น ในองค์กร ต่อต้านก็คงทำยาก ตราบใดที่ประเทศยังมีพื้นฐานความคิดของวัตถุนิยม การคอรัปชั่นยังไงก็ต้องมี อยากได้ อยากเป็น อยากมี มันมีทุกแห่ง “แต่หากผมมีโอกาสเป็นนายกนครตรัง วันที่ผมชนะ อันดับแรก ต้องเรียกทุกคนมาคุยกันเรื่องจิตสำนึก” ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหมือนการพูดคุยแปกติ เหมือนงานรูทีนที่ต้องทำทุกวัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะพูดอย่างไร สุดท้ายแล้วความกลัวเท่านั้นที่จะหยุดยั้ง เรื่องการกระทำผิดได้ นำกฎหมายเข้ามาจับ กฎหมายแต่ละเรื่อง แต่ละองค์กร เข้ามาจัดการ การคอรับชั้นมีตั้งแต่ การคอรัปชั่นอย่างง่าย เช่น การเรียกรับเปอร์เซ็น การเรียกหัวคิว จนไปถึงการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งเรื่องจิตสำนึกของผู้นำจึงเป็นเรื่องใหญ่ อันดับที่สอง คือ ข้าราชการที่เคยได้ เคยเป็น เคยมี เคยได้รับการหยิบยื่น ต้องหยุดซึ่งถ้าหัวหยุด หางก็ไปไม่ได้ ฉะนั้นวิธีที่จะดูแลเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ตัวผู้บริหาร ต้องไม่รับประโยชน์จากการคอรัปชั่น หากจับได้จะไม่ยอมเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่นในโรงเรียนเทศบาล ในกอง ในสำนักต่างๆ โดยเฉพาะ ผู้รับจ้างหรือคู่สัญญาที่เข้ามาทำงานกับเทศบาล ส่วนใหญ่ติดปลายนวมมาทั้งนั้น มักจะมีความพยายามเจรจา เข้าพบผู้บริหาร ผู้มีอำนาจ เพื่อจะนำเสนอผลประโยชน์ให้
ระบบหิวโหย มองเรื่องการแบ่งเปอร์เซ็นให้เป็นเรื่องปกติ นักการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย ข้าราชการที่เป็นกลไกฟันเพียงในระดับปฏิบัติ “การทำถนนสักสาย คูคลองสักเส้น ถ้าข้าราชการไม่ปิดตาข้างเดียว ไปวัดขนาด สเป็ก ตัวนายก ตัวผู้บริหาร ไม่ได้ลงไปนั่งเฝ้านั่งดู แต่กลับมีผู้ควบคุม ผู้ตรวจรับ ที่มีหน้าที่ตรวจงาน นายกจึงจะได้เซ็นในขั้นตอนสุดท้าย” ถ้าเราหยุดกระบวนการนี้ได้ การคอรัปชั่นจะค่อยๆ ลดน้อยลง “สำคัญสุดตัวนายกต้องจริงจัง เข้มแข็ง”
นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ ทีมโกบุ้น หมายเลข3 กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาคนในเมืองตรังย่อมรู้ดีว่า การทุจริตคอรัปชั่นในองค์นี้มีมาอย่างมโหฬาร และสร้างความเจ็บปวด ให้กับเราอย่างมาก เพราะตัวผู้บริหารเข้ามาแล้วไม่ได้อะไรมาก เข้ามาโกงกิน ที่ผ่านมีการตรวจสอบ การร้องเรียน เรื่องถึง ปปช. และกระบวนการศาล มีข้าราชการน้ำดีหลายคนพลอยติดร่างแหไปด้วย โดยภาพรวมการโกงในประเทศมีสูงถึงปีละ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถเอามาพัฒนาประเทศได้มากมาย อปท.เป็นส่วนหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีการโกง การทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งทั้งประเทศมี 7,000 – 8,000 อปท. ผมมองว่าการทุจริตคอรัปชั่นแก้ได้ เริ่มจากตัวผู้นำ “หัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก” เทศบาลนครตรัง มีงบประมาณต่อปี 800 – 900 ล้านบาท ต่อ ปี สามารถดึงมาใช้ได้ปีละ 400 – 500 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้มีช่องว่างให้เกิดการทุจริต จะเห็นได้ว่าก่อนจะให้มีการเลือกตั้งมีการจัดจ้างทำถนนทับหน้า ลาดยางอย่าง ด้วยงบประมาณนับ 100 ล้าน ซึ่งผมอยู่ในแวดวงการก่อสร้าง ผมรู้ว่าเขาทำกันเพื่ออะไร เพราะรู้สึกไม่สบายใจเลย ผมตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าหากมีโอกาสจะทำงานเพื่อบ้านเมือง แทนคุณแผ่นดิน ตั้งใจจะเอาความรู้ประสบการณ์ในอดีตที่เคยทำงานระดับชาติ มาพัฒนานครตรังด้วยความบริสุทธิใจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะนี้ความแตกแยกในองค์กรเทศบาลนครตรัง มีความแตกแยกเป็นหลายก๊ก หลายทีม กลุ่มคนของผู้บริหารคนเก่าๆที่ผ่านมา คนกลุ่มจะไม่ลงรอยกัน ถ้าผมเข้าไปทำงานจะหลอมรวม บริหารงานบุคคลโดยใช้หลักธรรมาภิบาล ให้ความเสมอภาคเท่าเทียม ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหลอมว่าเรามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง จนนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความปกติขององค์กรที่มีการเปลี่ยนฝ่ายบริหารบ่อยครั้ง “ต้องใช้การบริหารงานบุคคล เข้ามาสลายสิ่งไม่ดี ทำให้มีความรักองค์กร สามัคคี มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนานครตรัง” อย่างไรก็ตามในเมืองไทย เรื่องการรับส่วย หรือ ระบบอุปถัมภ์ ในเมืองไทยมีมาอย่างช้านาน แต่เราขจัดได้ด้วยการให้ความเป็นธรรมกับพนักงาน ทำดีเสริมแรงด้วยการให้รางวัล เลื่อนขั้น โบนัส ทำไม่ดีต้องถูกลงโทษ แล้วสิ่งไม่ดีจะสลายไปเอง แล้วทุกคนจะหันมาทำความดี
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- รมว.ท่องเที่ยว ชวนลอยกระทง "สีสันแห่งสายน้ำฯ" สร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- "รัฐสภา" ร่วมสนับสนุนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”
- ทีดีอาร์ไอ จัดเวิร์คชอป “ CONTENT CREATOR WORKSHOP: SYNERGY FOR CLEAN ENERGY”
ดร.สัญญา ศรีวิเชียร ทีม ดร.สัญญา พัฒนานครตรัง หมายเลข 4 กล่าวว่า เรามีอยู่ในนโยบายการบริหารจัดการ ซึ่งทีมได้นำเสนอไปแล้ว “หลักธรรมาภิบาล” การที่จะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ซึ่งต้องดูแลไปจนถึงการทุจริตคอรับชั่น เป็นงานหลักของนักการเมือง เนื่องจากภาพพจน์นักการเมืองในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ล้วนมีแนวคิดว่าใครก็เข้าไปเพื่อกอบโกย ถอนทุน ฉะนั้นผมจึงมองว่าการขจัดภาพจำเหล่านี้ ด้วยการพัฒนาคน พัฒนาเมือง จนไปถึงการบริหารจัดการให้ปลอดการทุจริตคอรัปชั่น งบประมาณต่างๆได้ถึงประชาชน เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยการคอรัปชั่น หมายไปถึงระบบส่วย แปะเจี๊ยะ การฮั้วประมูล กินตามน้ำ จ่ายสินบน แม้ปัจจุบันจะมีวิธีการประมูลทางระบบอิเล็กทรอนิค ซึ่งช่วยได้เพียงส่วนหนึ่ง
การบริหารจัดการเรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ คุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ “หลักธรรมาภิบาล” เรื่องนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบร่วมกัน และความคุ้มค่า ซึ่งหากผมได้เป็นนายกเทศมนตรีนครตรัง ผมจะนำหลักการเหล่านี้มาใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการ เพื่อป้องกันการคอรัปชั่น
นายทวีรัตน์ เลาหทัยชนก ทีมต้นกล้านครตรัง หมายเลข5 กล่าวว่า เราทราบกันดีอยู่แล้วครับ ว่าปัญหาการคอรัปชั่น เป็นปัญหาใหญ่ที่มีมานานในสังคมไทย ทุกยุค ทุกสมัย ที่เกิดขึ้นในองค์กรทุกองค์กร ครับ แต่จะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนในองค์กรนั้น โดยเฉพาะจิตสำนึกของผู้บริหารครับ หาก “นายดี มีสำนึกดี ลูกน้องก็จะดีตาม”
จริงอยู่ 5 ปี ก่อนหน้านี้ ผมเคยประมูลงานรับเหมาของเทศบาลนครตรัง แต่งานที่ผมได้มาแต่ละครั้ง เป็นการประมูลได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยชอบด้วยระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นการได้ผลกำไรโดยชอบในฐานะนักธุรกิจ ครับ…แต่เมื่อผมรู้เป้าหมายของตัวเองที่จะอาสาเข้ามาทำหน้าที่ผู้บริหารของเทศบาลนครตรัง ผม ได้ถอยห่างจากงานประมูลของเทศบาลนครตรังมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี แล้ว และผมจะไม่เข้ามาเพื่อหวังประโยชน์ให้ธุรกิจรับเหมาของครอบครัวผม ผมไม่มีแม้แต่บริษัทนอมินี ที่จะเข้ามาประมูลงานของเทศบาล ผมไม่ได้หวังที่จะเข้ามาให้เทศบาลนครตรังเกิดความเสื่อมเสีย และเสื่อมศรัทธาจากการคอรัปชั่น
สำหรับผมแล้ว ปัญหาการคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่แก้ไขยากมากในสังคมไทย ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาคอรัปชั่น จะเน้นการแก้ด้วยกฎหมาย แต่ผมว่ามันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุครับ ผมคิดว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการคอรัปชั่นขึ้นให้น้อยที่สุด จนไม่ให้เกิดขึ้นเลย คือ การสร้างจิตสำนึกสร้างเครื่องหมายแห่งความดีให้กับตัวเองและสังคม ไม่ปล่อยให้ความโลภหรือผลประโยชน์เข้ามาครอบงำ และยึดเอาหลักธรรมาภิบาล
นพ.รักษ์ บุญเจริญ ทีมหมอรักษ์ หมายเลข 6 กล่าวว่า หมอรักษ์ กล่าวว่า ต้องเริ่มจากที่มาของผู้นำองค์กร ถ้าที่มาไม่สุจริตแล้ว การมาทำงานในองค์กรก็คงไม่สุจริต “ตั้งไข่ไม่ดี ก้าวต่อไปไม่ดีด้วย” การเป็นจะเป็นผู้นำที่ดีต้องเข้ามาอย่างสุจริต โปร่งใส และต้องดูแลคนใกล้ชิด และผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ให้ทุจริต ซึ่งต้องทำแบบนี้ไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ดีขององค์กร “คนทำความดี ทำงานสุจริต เป็นแกะขาวไม่ใช่แกะดำ” เมื่อวัฒนธรรมองค์กรดี แต่มีผู้นำที่มีความคิดทุจริตคอรัปชั่นเข้ามา ผู้นำจะกลายเป็นแกะดำ ที่สำคัญอีกอย่างคือตัวผู้นำต้องให้ปชช.ตรวจสอบได้ ซึ่งสมัยนี้การตรวจสอบสามารทำได้ง่ายขึ้น ปชช.มีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น ผู้นำเกรงกลัวการถูกตรวจสอบ การคอรัปชั่นก็จะค่อยๆ ลดลงในที่สุด การคอรัปชั่น ผมมองไปจนถึงการทุจริต การจัดซื้อจัดจ้าง การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง จนถึงการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งหากทุกคนเอาจริงเอาจัง ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ การทุจริตจะเกิดขึ้นไม่ได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: