นครพนม – วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในการประกอบพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย ประจำปี 2563 ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย ประจำปี 2553 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 โดยได้มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในสถานที่เหมาะสม โดยในปี 2563 จังหวัดนครพนม มีข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย รวมทั้งสิ้น 35 ราย ประกอบไปด้วยชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก จำนวน 15 ราย ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย จำนวน 20 ราย
โดยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก 1 สำรับ ประกอบด้วย ดวงตรา ด้านหน้าเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่บนพื้นทองในดอกบัวบาน กลีบลงยาสีแดง เกสรเงิน รอบนอกมีกระจังเงิน 8 ทิศ มีกระจังแทรกตามระหว่าง ด้านหลังเปลี่ยนรูปช้างเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ม.ป.ร. ลงยาสีแดง เบื้องบนมีพระมหามงกุฎทองมีรัศมี สายสะพาย เป็นแพรแถบขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สีแดงริมเขียวใหญ่ มีริ้วเหลืองและน้ำเงินขนาดใหญ่ควบคั่นทั้ง 2 ข้าง สำหรับสะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย และดารา ด้านหน้ามีลักษณะเช่นเดียวกับดวงตราแต่กระจังยาวกว่า ด้านหลังเป็นทอง สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย ดวงตรา ดารา และสายสะพายสำหรับพระราชทานสตรีนั้นจะมีขนาดย่อมกว่าบุรุษ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องหมายประดับแพรแถบย่อและดุมเสื้อ มีลักษณะเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ในดอกบัวบาน กลีบลงยาสีแดงสลับเขียว เกสรเงิน
ข่าวน่าสนใจ:
- โหดเหี้ยม!หนุ่มถูกมีดฟันยับดับกลางถนน คาดทะเลาะในวงเหล้า
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- นักท่องเที่ยวแห่ชมดอกไม้งามดอยตุง ชิมอาหารพื้นถิ่น ถ่ายรูปดอกไม้สวย
- ชาวบ้านยังผวา บ้านสไลด์ตกน้ำบางปะกงตามกัน ไม่กล้าออกไปทำกิน
ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย 1 สำรับ ประกอบด้วย ดวงตรา เป็นรูปพระมหามงกุฎอยู่ในลายหว่านล้อมทอง พื้นลงยาสีน้ำเงินและสีแดง มีกระจังเงินใหญ่และเล็ก อย่างละสี่ทิศ มีรัศมีทองสลับตามระหว่าง ด้านหลังเปลี่ยนพระมหามงกุฎเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” เบื้องบนมีจุลมงกุฎ สายสะพาย เป็นแพรแถบขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สีน้ำเงินริมเขียว มีริ้วเหลืองรื้วแดงขนาดใหญ่คั่นทั้งสองข้าง สะพายบ่าขวาเฉียงลงบ่าซ้าย และดารา เป็นรูปอย่างด้านหน้าดวงตรา ด้านหลังเป็นทอง และไม่มีจุลมงกุฎ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
ทั้งนี้ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเรียกว่า “เครื่องราชอิสริยยศ” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเครื่องราชอิสริยยศขึ้นอีกหลายตระกูล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนมาเรียกว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์”สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และผู้กระทำคุณความดีให้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นบุรุษและสตรี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: