นครพนม – แฉเล่ห์ผู้ประกอบการดูดทรายในแม่น้ำโขง เกี้ยเซี้ยะ อปท.บางแห่ง ชี้ช่องเลี่ยงภาษีท้องถิ่น ช้างตายทั้งตัวใบบัวปิดไม่มิดยอดติดหนี้รัฐโผล่กว่า 10 ล้านบาท
จากกรณีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้เปิดเผยเรื่องที่ถูกซุกไว้ในหีบนานนับปี เกี่ยวกับปัญหากิจการดูดทรายในแม่น้ำโขงว่า มีผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาส หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีท้องถิ่นคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ผู้ประกอบกิจการมีท่าทรายอยู่ในพื้นที่นั้นๆ โดยการขออนุญาตดูดทรายในจังหวัดนครพนม แยกออกมาเป็น 2 ประเภท คือ 1.นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว) ในส่วนนี้มีศุลกากรรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 เกี่ยวกับการขออนุญาตนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และ 2.ในมาตรา 9 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการขออนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ.2546 โดยเป็นการดูดทรายในราชอาณาจักร แต่จะต้องไม่เป็นพื้นที่มีเขื่อนป้องกันตลิ่ง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตจากทางคณะกรรมการระดับจังหวัดทำการตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาต โดยมีอายุครั้งละ 1 ปี ซึ่งจังหวัดนครพนมจะดูแลเรื่องความมั่นคงควบคู่ไปด้วย ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ข่าวน่าสนใจ:
ซึ่งหลังตรวจสอบของคณะกรรมการระดับจังหวัด พบหลักฐานผู้ประกอบการบางราย ฉวยโอกาสเลี่ยงจ่ายภาษีให้ท้องถิ่นพื้นที่ ทำให้รัฐเกิดความเสียหายติดต่อกันมาหลายปี รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ที่ผ่านมาทางจังหวัดไม่ได้มีการติดตามตรวจสอบ ว่ามีการจ่ายชำระภาษีทุกปีให้ท้องถิ่นตามระเบียบขั้นตอนหรือไม่ หลังจากนี้จึงต้องตรวจสอบผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาตประมาณกว่า 20 รายในพื้นที่จังหวัดนครพนม หากใครที่เลี่ยงภาษีไม่นำใบเสร็จหลักฐานการชำระภาษีมายืนยัน จะไม่มีการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการดูดทรายโดยเด็ดขาด และยังมีบางรายฉวยโอกาสแฝงลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ในการนำเข้า-ส่งออกของผิดกฎหมายยาเสพติดและแรงต่างด้าว จนมีชื่ออยู่ในบัญชีของฝ่ายความมั่นคง
ล่าสุด วันที่ 7 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับการชี้แจงจากผู้ประกอบการดูดทรายในแม่น้ำโขงรายหนึ่ง ออกมาเปิดเผยรายละเอียดว่า “การทำธุรกิจดูดทรายมี 2 ประเภท ได้แก่ในมาตรา 9 ก็คือขออนุญาตเทศบาลฯ อบต.ในพื้นที่ เพื่อประกอบกิจการดูดทราย โดยจะต้องห่างจากฝั่งไปไม่เกิน 1,000 เมตรหรือ 1 กิโลเมตร ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามมาตรา86 วรรค 2 ซึ่งสำหรับกลุ่มที่ติดปัญหาไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการตามมาตรา 86 วรรค 2 แต่จะเป็นกลุ่มที่ดำเนินการภายใต้มาตรา 9 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ล้วนเป็นขาใหญ่มีคนหนุนหลัง การกระทำใดๆ จึงไม่ค่อยเกรงกลัวกฎหมาย กระทั่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทวงติงเมื่อครั้งที่ไปประชุมร่วม ว่ายังไม่มีการเสียค่าภาษี
ทีนี้ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่าในกลุ่มที่อยู่ในมาตรา 9 นี้มีทั้งหมดกี่ราย ข้อมูลน่าจะอยู่ที่เทศบาลหรือ อบต.แต่ละแห่งในพื้นที่นั้นๆ ในส่วนของกลุ่มมาตรา 86 ที่ไม่สามารถนำทรายเข้ามาได้ในช่วงโควิดนั้น ก็ได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายให้ผู้ประกอบการรวมตัวกันมาดำเนินการยื่นต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มมาตรา 9 ไม่มีการรวมตัวให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อไปประสานกับหน่วยงานราชการนั้นๆ แต่กลับใช้วิธีทางลัดด้วยการเข้าไปเกี้ยเซี๊ยะกับเทศบาลฯ หรือ อบต.ที่ตนมีกิจการดูดทรายอยู่ในพื้นที่นั้น จึงทำให้มีหลักฐานว่าหลีกเลี่ยงภาษีท้องถิ่นปรากฏอยู่ที่จังหวัด ทั้งหมดทั้งปวงถ้า อปท.ไม่รู้เห็นเป็นใจจะไม่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นแน่นอน”
ส่วนโทษของการดูดทรายในแหล่งน้ำสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ในมาตรา 120 ที่กำหนดให้เจ้าท่ามีหน้าที่ดูแล รักษาและขุดลอกร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย โดยห้ามมิให้ผู้ใดขุดลอก แก้ไข หรือทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบหรือทะเลภายในน่านน้ำไทย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาทและให้เจ้าท่าสั่งให้หยุดกระทำการดังกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: