พระนครศรีอยุธยา-วันเดียวเพิ่มอีก 32 ราย สั่งปิดตลาดกลางตรวจเชิงรุก 300 คนเสี่ยงจากการไปนั่ง 30 มี.ค.-15เม.ย.64 คาดมีถึง 300 คน เจอแล้วติด 17 คน ขณะที่ รมต.อุดมศึกษาตรวจความพร้อมหอพักราชภัฎ โรงพยาบาลสนาม มทร.สุวรรณภูมิ พร้อมรับ 100 กว่าเตียง
วันที่ 17 เม.ย. นายชัชชัย กิตติชัย หรือ ชัช ตลาดไท แกนนำจิตอาสาทีมงานกู้ภัยอยุธยา ได้นำรถฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค จำนวนหลายคัน เข้าไปฉีดพ่นในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งอยุธยา ริมถนนสายเอเซีย เส้นทางขาเข้ากรุงเทพ ฯ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 22 เขต ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา ขณะที่ อบจ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งรับผิดชอบตลาดกลางกุ้งอยุธยา มีคำสั่งให้ปิดร้านค้าทุกร้านและปิดตลาด ในระหว่างวันที่ 17-18 เมษายนนี้ สาเหตุเพราะว่าพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในตลาด ซึ่งคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 17 คนแล้วในขณะนี้ ทั้งนี้ตลาดกลางกุ้งอยุธยา เป็นแหล่งรวมร้านค้าอาหารชื่อดัง ประเภทกุ้งเผาปลาเผา มากที่สุดของภาคกลาง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด จึงจัดเป็น “ คลัสเตอร์โควิด-19 ” เพราะว่าพบการแพร่ระบาดจำนวนมาก ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและพนักงานประจำร้านอาหาร ส่วนใหญ่ไปติดเชื้อ จากผู้ติดเชื้อรายที่ 113 และ 114 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งค้าขายอยู่ในตลาดแห่งนี้
อย่างไรก็ตามในวันนี้ นอกจากฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว ยังได้ล้างทำความสะอาดทั้งตลาด และในวันพรุ่งนี้ หรือวันที่ 18 เมษายน จะมีการออกหน่วยบริการตรวจหาเชื้อโควิด กลุ่มเป้าหมายในตลาด 300 คน และมีรายงานว่าจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแล ด้านสาธารณสุข เข้าไปตรวจสอบ เพื่อประเมินความเสี่ยง และจะพิจารณาว่าจะให้เปิดตลาดได้ หรือ จะให้ปิดตลาดเป็นการชั่วคราวต่อไปอีก
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมปลัดกระทรวงและผู้บริหาร ในการเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์พักฟื้น (Hospitel) ที่ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (หันตรา) โดยมี นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พันเอก(พิเศษ) เพิ่มศักดิ์ ขุนโขลน รอง ผอ.รมน.จว. นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผศ.ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ นายแพทย์เศกสรรค์ ชวดีเลิศ ผอ.รพ.อุทัย นายบดินทร์ เกษมศานติ์ นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ และทีมบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานสำหรับศูนย์พักฟื้น (Hospitel) ที่ หอพักอู่ทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สามารถให้บริการได้ จำนวน 30 ห้องๆละ 2 เตียง รองรับได้ 60 เตียง โดยเมื่อวานนี้ ได้ย้ายผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในหอแยกโรค ครบ 7 วัน ซึ่งมีอาการดีขึ้นและไม่พบโรคแทรกซ้อน จำนวน 13 ราย เข้าพักซึ่งมีการแยกชั้นเป็นชายและหญิง จัดแพทย์ประจำแต่ละชั้น เฝ้าดูแลความปลอดภัยผ่านกล้องวงจรปิด อีกทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพร้อม อาทิ เตียง ตู้เสื้อผ้า แอร์ พัดลม เครื่องซักผ้า ห้องน้ำ ห้องสุขา และห้องซักผ้า ในปริมาณที่เพียงพอ โดยการจัดตั้ง Hospitel แห่งนี้ เป็นความร่วมมือ ของ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา กองทัพบก ที่ทำการปกครองจังหวัด กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ในการสนับสนุนทีมแพทย์พยาบาลและปรับปรุงโครงสร้างรวมถึง ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องมือ ให้พร้อมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านความคืบหน้าโรงพยาบาลสนาม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (หันตรา) กองทัพบก ได้ร่วมส่งกำลังหน่วยทหารจาก กรมสรรพาวุธทหารบก กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ รวมถึง มทบ.18 จ.สระบุรี สนับสนุนการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามของจังหวัด โดยจัดรถยนต์บรรทุก จำนวน 5 คัน พร้อมกำลังพลทหาร 50 นาย เพื่อขนย้ายพร้อมประกอบเตียงผู้ป่วย จำนวน 100 เตียง ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดโรงพยาบาลสนาม ภายในวันที่ 21 เมษายนนี้
ด้าน ศ.ดร.เอนกฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการนำคณะมาเยี่ยมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกส่วน โดยการนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อม ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น สาธารณสุขจังหวัด และทีมบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ได้เสียสละและทุ่มเทจัดตั้งศูนย์พักฟื้น (hospital) และโรงพยาบาลสนาม สิ่งสำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือท่านผู้ว่าฯ สามารถนำงบประมาณจากท้องถิ่นมาบริหารจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนได้อย่างเข้มแข็ง ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามครั้งนี้ สามารถจัดสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยได้รับความร่วมมือจาก กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัด และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) อีกทั้ง มีความประทับใจกับกำลังพลทหารของกองทัพบก ส่งกำลังพลทหาร 50 นาย สนับสนุนการขนย้ายพร้อมประกอบเตียงผู้ป่วยในครั้งนี้ อว.ไม่ได้มีแต่เพียงมหาวิทยาลัย แต่ยังมีหน่วยวิจัยและพัฒนาอีกหลายแห่งที่จะเข้าไปช่วยตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ ตนเองดีใจที่ อว.เป็นกองหนุนที่พร้อมในการทำงานในทุกจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ ถ้าจำเป็นจะขยายมากกว่า 12,000 กว่าเตียงที่มีอยู่ในเวลานี้อีก อยากบอกประชาชนไทยว่า “อย่าวิตก ประเทศเรา มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” และขอให้ความมั่นใจว่า “เราจะผ่านโควิด-19 ระลอก 3 ไปได้อย่างแน่นอน”
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ามาใช้โรงพยาบาลสนาม ของ อว.ในทั่วประเทศ รวมแล้ว 1,179 เตียง ซึ่งทั้งหมดอาการไม่หนัก โดยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ามา 346 ราย นอกจากนี้ เรายังมีระบบรองรับการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักให้ไปถึงโรงพยาบาลหลักอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย โอกาสนี้ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช. ) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งมอบนวัตกรรมชุดที่นอนยางพารา 1,000 ชุด โดยมอบให้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (หันตรา) ร่วมกับ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา 250 ชุด โดยจะนำไปใช้ที่โรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วย Covid-19
นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยที่ประชุมได้ติดตามผลการปฏิบัติงานการเปิดศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Hospitel) ที่หอพักมหาวิทยาลัยราชภัฎฯ และความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (หันตรา) สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ วันที่ 17 เมษายน มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสม ระลอกใหม่ รวม 163 ราย รักษาหายแล้ว 62 ราย ซึ่งจากการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้จังหวัดต้องบูรณาการบริหารจัดการเตียงหมุนเวียนเพื่อให้เหมาะสมกับอาการและเพียงพอกับผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนวางแผนตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) ในพื้นที่เสี่ยงโดยโรงพยาบาลเอกชน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโดยเร็ว จะสามารถนำตัวมารักษาและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้พิจารณามาตรการเร่งด่วน เพื่อวางแนวทางปฏิบัติตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 20 ตามที่ ศบค. ได้กำหนด การห้ามดำเนินการหรือจัดกิจกรรมที่มีเสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม งดกิจกรรมที่เป็นการสังสรรค์ งานเลี้ยงฉลอง งานรื่นเริง และให้มีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ ตลอดจนกำหนดให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ในพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด โดยมีการปรับข้อกำหนดให้ นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ถึง 23.00 น. ห้ามขาย/ดื่ม แอลกอฮอล์ในร้าน สำหรับห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดบริการได้ถึง 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ งดการให้บริการ ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก ส่วนร้านสะดวกซื้อและสนามกีฬา ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ
ด้าน นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 32 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 163 ราย ดังนั้น ได้เปิดศูนย์พักฟื้น (Hospitel) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ สามารถรองรับได้ จำนวน 60 เตียง และเตรียมจะเปิดโรงพยาบาลสนาม ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (หันตรา) จำนวน 100 เตียง หากจำเป็นยังสามารถขยายเตียงได้ถึง 300 เตียง ทั้งนี้ เชื่อว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะสามารถรับมือได้อย่างเต็มระบบ โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนร่วมช่วยกันรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม โดยต้องป้องกันตนเองจากกลุ่มเสี่ยง/บุคคลเสี่ยง ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ด้วยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูม สแกนแอพฯ ไทยชนะ และหลีกเลี่ยงไปในที่แออัด ตลอดจนขอความร่วมมือสถานที่ให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร เพิ่มความเข้มข้นในการใช้มาตรการคัดกรองและป้องกันโรคโควิดอย่างเต็มกำลังด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: