นครพนม – เฮไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเป็นวันที่สาม คลายน๊อตร้านอาหารปิด 5 ทุ่ม ตัดขอนแก่นและอุดรออกจากพื้นที่เสี่ยง ประชาชนแห่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนกว่า 1.3 แสนราย ปิด รพ.สนามหลังรักษาหายกว่า 100 คน
วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม/ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อฯ มอบหมายให้ นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม แถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ซึ่งปรากฏว่าไม่พบผู้ป่วยยืนยันติดต่อกันเป็นวันที่สามแล้ว (15-17 พค.64) รวมยอดสะสม 132 ราย รักษาหายแล้ว 109 ราย กำลังรักษาอยู่ใน รพ.ฯ 21 ราย เสียชีวิต 2 ราย
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าจำนวนผู้ป่วยทั้ง 132 ราย แยกเป็นชาย 55 ราย หญิง 77 ราย อายุเฉลี่ย 33 ปี อายุต่ำสุด 6 เดือน สูงสุด 73 ปี ในจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอยู่ในขณะนี้ทั้ง 21 ราย จำแนกตามโรงพยาบาลที่รับรักษา ดังนี้ รพ.นครพนม 7 ราย รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม 3 ราย รพ.ท่าอุเทน 4 ราย รพ.นาหว้า 3 ราย และ รพ.ศรีสงคราม กับ รพ.นาแก แห่งละ 2 ราย ผู้ป่วยมีเชื้อลงปอด 4 ราย แต่ไม่มีอาการรุนแรง
ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อเบื้องต้น พิจารณาการคัดกรองบุคคลที่มาจากพื้นที่เสี่ยงเดิมมี 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี เชียงใหม่ ชลบุรี สระแก้ว ขอนแก่น นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง สงขลา ตาก สุพรรณบุรี และอุดรธานี
ข่าวน่าสนใจ:
- หลวงพี่ขับเก๋งชนราวสะพาน เผยเดินทางดูแลโยมแม่ ชาวบ้านวอนหยุดดราม่า-ตรวจสอบความจริง
- นครพนม : กองทัพบก ร่วมกับ Kubota มอบไออุ่นในพื้นที่ภาคอีสาน มอบเสื้อกันหนาวให้ชาวนครพนม ตามโครงการ "คูโบต้า พลังใจ สู้ภัยหนาว" ปี 2567
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
- ประชาชนแห่ เสกเหรียญหลวงปู่คำไหล ในพระมหาเจดีย์วัดดัง แห่ตีเลขน้ำตาเทียน หลังสาธุชนนับพันแห่ร่วมพิธี
ซึ่งคณะกรรมการฯได้พิจารณาถอดจังหวัดขอนแก่น และ อุดรธานี ออกจากสารบบพื้นที่เสี่ยง คือเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดนครพนมโดยไม่ต้องกักตัว หรือไม่ต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ได้แยกพื้นที่เสี่ยงออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ 1.กรุงเทพฯ 2.นนทบุรี 3.ปทุมธานี และ 4.สมุทรปราการ ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดมี 17 จังหวัด ได้แก่ 1.กาญจนบุรี 2.ชลบุรี 3.ฉะเชิงเทรา 4.นครศรีธรรมราช 5.นครปฐม 6.ตาก 7.นราธิวาส 8.ประจวบคีรีขันธ์ 9.พระนครศรีอยุธยา 10.เพชรบุรี 11.ระนอง 12.ระยอง 13.ยะลา 14.ราชบุรี 15.สมุทรสาคร 16.สงขลา และ 17.สุราษฎร์ธานี รวม 21 จังหวัด
โดยมาตรการของจังหวัดนครพนม ให้ผู้ที่เดินทางมาจาก 21 จังหวัด รายงานตัวต่อผู้นำชุมชน อสม. หรือไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อทำการสอบสวนโรคเพื่อตรวจหาโควิด กรณีที่มีผล Rapid Antigen Test มีผลเป็นลบ ให้กักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน ซึ่งระหว่างการกักตัวหากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือตรวจสอบไทม์ไลน์ พบมีความเสี่ยงเพิ่มเติมที่จำเป็นจะต้องมีการตรวจวันที่ 5 ให้ดำเนินการได้ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ และกรณีที่มีผล Rapid Antigen Test มีผลเป็นบวก ต้องรับการรักษาที่ รพ. และได้รับการตรวจยืนยันกรณีมีผลพบเชื้อ จะได้รับการรักษาที่ รพ. ส่วนกรณีที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายใน 2 สัปดาห์ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ 56 จังหวัด กรณีไม่มีความเสี่ยง
โดย 56 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมในมาตรการจังหวัดนครพนม คือ 1.ประเมินความเสี่ยงจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ถ้ามีความเสี่ยงให้ใช้มาตรการเดียวกับ 21 จังหวัด(ควบคุมสูงสุด+เข้มงวด) 2.กรณีไม่มีความเสี่ยง หรือฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายใน 2 สัปดาห์ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTTA 1.อยู่ห่างไว้ 2.ใส่แมสก์ 3.หมั่นล้างมือ 4.ตรวจวัดอุณหภูมิ 5.ตรวจให้ไว 6.ใช้แอฟไทยชนะ และ NPM -COVID-19
นอกจากนี้จังหวัดนครพนมได้คลายน๊อตการรวมกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยน ซึ่งจากเดิมจำกัดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมไม่เกิน 20 คน จะอนุญาตให้ไม่เกิน 50 คน คล้ายกับการประกาศของ ศบค. สำหรับประเด็นของร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหารทั่วไป เดิมให้เปิดไม่เกินเวลา 22.00 น. ได้ปรับเวลาให้สอดคล้องกับ ศบค. เช่นกัน คืออนุญาตต่อให้อีก 1 ชม. คือไม่เกินเวลา 23.00 น. ส่วนที่ยังให้ปิดต่อไปได้แก่ สนามชนไก่ สนามมวย สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน รวมถึงสวนสัตว์ สวนน้ำ สวนสนุก สระว่ายน้ำทั้งกลางแจ้งละในร่ม
นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวต่อว่าเกี่ยวกับประเด็นวัคซีนในภาพรวมของจังหวัด ได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งฉีดไปแล้วจำนวนกว่า 8,000 คน ระยะที่ 2 เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งปิดรับลงทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยการลงทะเบียนฉีดวัคซีนเป็นที่น่าพอใจ จังหวัดนครพนมมีคนลงทะเบียนมากถึง 171,556 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 64.51 เปอร์เซ็นต์ จากที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนครพนมเป็นจังหวัดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีการจองวัคซีนเป็นจำนวนมาก เป็นไปตามแผนที่ทางจังหวัดต้องการให้ประชาชนได้รับวัคซีนให้มากที่สุด
ส่วนระยะที่ 3 เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18-59 ปี โดยวัคซีนจะเข้ามาถึงในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป้าหมายของระยะที่ 3 นี้ สาธารณสุขจังหวัดตั้งเป้าประชาชนจะต้องลงทะเบียนอย่างน้อย 70-80 เปอร์เซ็นต์ หรือจำนวน 5 แสนกว่าคนของประชากรทั้งหมดที่มี 7 แสนกว่าคน ซึ่งระยะนี้สามารถลงทะเบียนรับวัคซีนได้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตามรายละเอียดของกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 30-50 เปอร์เซ็นต์ผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” และ “NPM-COVID 19” หรือ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นลักษณะของหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่รวบรวมกันเป็นปริมาณมาก ๆ นัดหมายการฉีดกับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ โดยโรงพยาบาลจะทำการนัดฉีดเป็นวัน ๆ ไป และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นลักษณะการ walk in เข้ามารับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนเองที่โรงพยาบาล
ส่วนวันที่จะได้รับการฉีดวัคซีนประมาณหลังวันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นไป หรือหากกรณีที่วัคซีนมาก่อนก็จะดำเนินการฉีดให้ทันที สำหรับประชาชนหลายคนที่มีความกังวลในเรื่องของการฉีดวัคซีน เกรงว่าจะเป็นอันตรายเกิดภาวะแทรกซ้อน อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเพียงข่าวลวงที่ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามในจังหวัดนครพนมมีจำนวนหนึ่งที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการมาก เช่น มีผื่นขึ้นตามตัวหลังรับวัคซีน เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด วิงเวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่จะหายไปเองใน 1-3 วัน อย่างเคสของนครพนมที่เกิดขึ้นผู้รับวัคซีนอาการเริ่มดีขึ้นและหายเองเป็นปกติภายใน 2 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื่องจากจังหวัดนครพนมไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเป็นวันที่สาม ทำให้ขณะนี้มียอดผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ จำนวน 132 ราย รักษาหายและกลับบ้านแล้ว จำนวน 109 ราย และกำลังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล จำนวน 21 ราย ส่วนการเสียชีวิตสะสมยังคงที่จำนวน 2 ราย นพ.มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า สถานการณ์โควิดในพื้นที่เริ่มดีขึ้นหลังสามารถจัดการกับคลัสเตอร์ต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาได้สำเร็จ ทำให้โรงพยาบาลนครพนมมีพื้นที่เตียงว่างมากพอที่จะรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้
สำหรับโรงพยาบาลสนามของจังหวัดที่ใช้รับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลนครพนมมาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2564 ขณะนี้พบว่ามีเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปทำความสะอาดบริเวณภายใน เนื่องจากผู้ป่วยที่ทำการรักษาตัวได้หายเป็นปกติและส่งกลับบ้านไปหมดแล้ว จึงต้องทำความสะอาดโรงพยาบาลสนามและทำการปิดเป็นการชั่วคราว เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเปิดรับผู้ป่วยในรอบต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: