นราธิวาส-ผช.ผบ.ทบ.ลงนราฯ สั่งขันน็อตตะเข็บชายแดน!สกัดกั้นโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หลังระบาดที่ตากใบ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 พ.ค.2564 พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและคณะ เดินทางไปยังด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยได้ประชุมร่วมกับนายไพโรจน์ จริตงาม รอง ผวจ.นราธิวาส นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส นายวัลลภ วุฒาพาณิชย์ นายด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 50 คน เพื่อมอบนโยบายเพิ่มเติมในการสกัดกั้นเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่กำลังแพร่ระบาดในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง
โดย พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้บรรยายสรุปถึงแนวทางการป้องกันและสกัดกั้นตามแนวชายแดน ซึ่งมีทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ พร้อมได้มีการบูรณาการร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน อสม.และ ชรบ. ในการตั้งด่านโควิดตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะผ่านไปมาของแต่ละหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือโซนชั้นนอก ชั้นกลางและชั้นใน เพื่อให้พื้นที่แต่ละหมู่บ้านของ ต.เกาะสะท้อน มั่นใจว่าจะไม่มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้เข้ามาแพร่ระบาด จากการลักลอบเดินทางเข้าตามช่องทางธรรมชาติของชาวบ้านเพิ่มเติมจากกลุ่มเดิม
ด้านนายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส ได้บรรยายสรุปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่โดยภาพรวมของ จ.นราธิวาส ยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในเบื้องต้นมาจากครอบครัวของชาวบ้านในพื้นที่ ม.9 ต.เกาะสะท้อน ที่ภรรยาและบุตรเป็นชาวมาเลเซีย ได้ลักลอบข้ามแดนมาให้สามีและพักอาศัยอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงทราบว่าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ และประเด็นสำคัญคือชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน ส่วนใหญ่จะไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย และที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากนัก เพราะถือว่าเมื่อติดเชื้อรักษา 14 วันก็หายเป็นปกติ
โดย พล.อ.พรศักดิ์ พลูสวัสดิ์ ผช.ผบ.ทบ. ได้ชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติพอสรุปใจความว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่แพร่ระบาดในขณะนี้ เมื่อเรารู้ว่าคนเป็นผู้นำพาหะเข้ามาแพร่ระบาด เราก็ต้องใช้คนเป็นผู้สกัดกั้นถึงจะสำเร็จ คือต้องจี้ที่ตัวบุคคลกรหรือชาวบ้าน อย่างเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.หรือนายก อบต.เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่หมู่บ้านนั้นๆ หากให้ความสนใจอย่างจริงจัง ต้องทราบว่า ชาวบ้านคนใดแอบลักลอบนำพาเครือญาติลักลอบข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องทราบ เนื่องจากพื้นที่ตามแนวชายแดนส่วนใหญ่ทั้ง 2 ฟากฝั่งจะมีเครือญาติอาศัยอยู่ทั้งนั้น จุดนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ พูดแบบบ้านๆ คือต้องเอาจริงกับชาวบ้าน อย่างน้อยก็ไม่กล้าที่จะลักลอบนำพาข้ามแดน แล้วการแพร่ระบาดของเชื้อจะค่อยๆ คลี่คลายจนกลับคืนสู่สภาวะปกติ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: