ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งลพบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามวิกฤตน้ำแล้ง คลองชัยนาท-ป่าสัก เน้นแต่ละอำเภอ เร่งสร้างความเข้าใจเกษตรกรสูบน้ำตามรอบเวร และชะลอการเพราะปลูก หลังฝนยังไม่ตกตามคาดการณ์ พร้อมทั้งหาแนวทางในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 10 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างวิกฤต ในคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่ ประตูระบายน้ำบ้านโคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึง ประตูระบายน้ำมโนรมย์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ระยะทาง 86 กิโลเมตรซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงหลายอำเภอของจังหวัดลพบุรี
ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตของการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงไม่สามารถไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยแรงโน้มถ่วงได้ โดยกรมชลประทานได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม จากเดิมที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขนาด 5 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง และขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง ไว้แล้วนั้น ซึ่งขณะนี้ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ลบ.ม. อีกจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ด้วยระบบไฟฟ้า (Jica) ขนาด 0.5 ลบ.ม. อีก จำนวน 4 เครื่อง เพื่อเติมน้ำให้คลองชัยนาท-ป่าสักมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า สถานการณ์น้ำน่าจะดีขึ้นได้ในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กว่า 3 แสนไร่ จาก 8 แสนไร่ ให้สูบน้ำตามรอบเวร ที่ หน่วยงานราชการกำหนดไว้ และชะลอการเพราะปลูกออกไปก่อน จนกว่าปริมาณฝนที่มากพอและสม่ำเสมอ เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอทั้งด้านการอุปโภค และบริโภค รวมถึงภาคการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหาย
สำหรับการแก้ไขในระยาว ได้มอบหมายให้ สำนักงานประปาส่วนภูมิภาค ทั้งสาขาบ้านหมี่ และ สาขาลพบุรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง สำหรับเป็นต้นทุนในการผลิตน้ำประปา ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลัก ของการอุปโภค บริโภค เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ เหมือนทุกปี ที่ผ่านมา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: