นครพนม – เกษตรจังหวัดนครพนม เตือนเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง เฝ้าระวังโรคโคนเน่า-หัวเน่ามันสำปะหลัง ในช่วงฝนตกชุกต่อเนื่อง
วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ว่า จากการที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครพนม ทางสำนักงานเกษตรฯ ได้แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกอำเภอเตรียมพร้อมรับมือโรคโคนเน่า,หัวเน่ามันสำปะหลัง เนื่องจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โรคดังกล่าวทำความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในแถบภาคกลาง,ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยพบการระบาดในปีที่ผ่านมา เกษตรกรควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเกิดการระบาดซ้ำได้
ข่าวน่าสนใจ:
- จ.นครพนม บูรณาการร่วมปล่อยแถวระดมกวาดล้างอาชญากรรมช่วงเทศกาลลอยกระทง 2567
- คิดจะค้ายาฯ ขอให้..คิดถึงคุก!!
- นบ.ยส.24 บูรณาการร่วมกับกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด สสจ.นครพนม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือตรวจพื้นที่อาคารหลังศูนย์ฟื้นฟู…
- ‘นครพนม’ เดินหน้าขับเคลื่อน ‘นครพนมโมเดล’ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้ประชาชนมีความสุขที่สุด
ทั้งนี้ โรคโคนเน่า และ หัวเน่าในมันสำปะหลัง ยังสามารถเกิดได้กับมันสำปะหลังทุกสายพันธุ์ โดยเชื้อสาเหตุของโรคนี้สามารถติดไปกับท่อนพันธุ์ได้ หากใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากแหล่งที่เคยเกิดโรค อีกทั้งยังพบการระบาดมากในแปลงปลูกมันสำปะหลังที่มีน้ำท่วมขัง ดินมีการระบายน้ำไม่ดี และใช้ท่อนพันธุ์ที่มีความอ่อนแอต่อโรค
นางสาว กัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงฝนตกหนักติดต่อกัน ในบางพื้นที่มักเกิดการระบาดของโรคโคนเน่าและหัวเน่ามันสำปะหลังจากเชื้อไฟทอปเทอร่า เนื่องจากดินมีความชื้นสูง ดินมีการระบายน้ำได้ไม่ดี มักเกิดโรคในช่วงที่มันสำปะหลังสร้างหัวและสะสมแป้งโดยให้สังเกตมันสำปะหลังจะแสดงอาการใบเหลือง เหี่ยว และ ร่วง โคนต้นแสดงอาการเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือดำ หัวมันสำปะหลังแสดงอาการหัวเน่า ภายในหัวมันจะเป็นสีน้ำตาล เมื่อโยกที่ต้นบริเวณโคนต้นและส่วนของหัวที่อยู่ใต้ดินจะโยกคลอนได้ง่าย แต่ส่วนหัวที่อยู่ใต้ดินมีอาการเน่า หรือบางพันธุ์แสดงอาการรุนแรงอาจยืนต้นตายได้
สำหรับแนวทางในการป้องกัน มีดังนี้ ก่อนการปลูก ควรเก็บเศษเหง้าและเศษซากมันสำปะหลังไปเผาทำลาย ทำความสะอาดเครื่องจักรกลที่ใช้ทำการเกษตร ไถตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แปลงปลูกควรยกร่องให้สูงในพื้นที่ที่มีน้ำขัง ควรทำร่องน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากแปลง ก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเมทาแล็คซิล อัตรา 20 – 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หลังปลูกหมั่นสำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ถ้าพบมันสำปะหลังแสดงอาการของโรคโคนเน่าหรือหัวเน่า ให้ขุดถอนต้นที่แสดงอาการไปเผาทำลาย จากนั้นให้หว่านปูนขาว บริเวณรอบโคนต้นที่ขุดออกประมาณ 1 เมตร หรือกรณีระบาดรุนแรงมากใช้สารเคมีฟอสอีทิล อลูมิเนียมผสมน้ำอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดหรือพ่น
หลังการระบาดในแปลงที่เคยระบาดน้อยหรือปานกลาง ควรเลื่อนฤดูปลูกเป็นช่วงปลายฤดูฝน เพื่อให้ผลผลิตออกในช่วงฤดูแล้ง หรือเลือกใช้พันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ กำจัดซากพืชเก็บเศษเหง้า หรือเศษซากมันสำปะหลังไปเผาทำลาย ไถตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน และแช่ท่อนพันธุ์ป้องกันกำจัดเชื้อราทุกครั้ง ก่อนการปลูก สถานการณ์การระบาดของโรคโคนเน่า-หัวเน่ามันสำปะหลัง ก็จะลดลงในฤดูกาลต่อไป ซึ่งเกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอบให้บริการและคำแนะนำในการป้องกันและกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: